หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร



ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


              

ปฐมเทศนา
    [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุด
สองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

    การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ ๑
      ดูกรภิกษุทั้งหลายปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้
ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา
ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
นั้น เป็นไฉน?
    ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อนิพพาน.
    [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์
ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบ
ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ
สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.






  
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑
ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑
ตั้งจิตชอบ ๑
๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว
แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.


ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒
(รู้ปฏิจจสมุปบาท ๓ กับอริยสัจ ๔  ; 3*4 =12)

    [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓
มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
    อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาติ
นี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.
    ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.
[๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้
บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ
ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ
ใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
    เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
    เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
    เทวดาชั้นยามา ...
    เทวดาชั้นดุสิต ...
    เทวดาชั้นนิมมานรดี ...
    เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...
    เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็
บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
    ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล.
    ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้
ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ
ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อ
ของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.
                ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ

ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร(อนัตตาธาตุ หรือนิพพาน)
     [๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็น
อนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคล
พึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า
รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
    เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของ
เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนา
ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
    สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
    สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว
สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ
เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้
ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้นเลย.
    วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้
ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น
วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
          
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์

    [๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น
ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
           
    ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ

    [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
    รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
    เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลาย
พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
    สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ
หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลายพึง
เห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น
ไม่ใช่ตนของเรา.
    สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร เธอทั้งหลาย
พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
    วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ เธอทั้งหลาย
พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
     [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ >>ย่อมเบื่อหน่าย(นิพพิทาญาน)แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย >>ย่อมสิ้นกำหนัด >>เพราะสิ้นกำหนัด >>จิตก็พ้น
มื่อจิตพ้นแล้ว >>ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า >> ชาติสิ้นแล้ว >>พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว >>กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน
ภาษิตของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์
พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
                อนัตตลักขณสูตร จบ
    ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.
                ปฐมภาณวาร จบ

ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
                  ตถาคตสูตรที่ ๑
               ทรงแสดงพระธรรมจักร
    [๑๖๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด
๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉน?  คือ
     การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑       การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
    ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้ อันตถาคต
ได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความ
ตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... เป็นไฉน?  คือ อริยมรรคอันประกอบ
ด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพ
ชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้
แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน.
    [๑๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่
ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็น
ทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่
ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่
เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินี
ปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมา
สมาธิ.
[๑๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ
ทุกขอริยสัจนั้นเรากำหนดรู้แล้ว.
    [๑๖๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ
ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นเราละแล้ว.
    [๑๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นควรกระทำให้
แจ้ง. ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้แจ้งแล้ว
    [๑๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินี
ปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราเจริญแล้ว.
    [๑๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง
มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยัง
ไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหม
โลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ
(ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้วมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใน
โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชม
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
(รู้ปฏิจจสมุปบาท ๓ กับอริยสัจ ๔  ; 3*4 =12)ดูพุทธอุทานตอนแรกตรัสรู้ ใหม่ๆ
ฟังเทป ลป.ตอนบรรลุธรรมเหมือนกันเลย เรียกว่า กิจ ๔  ญาน ๓แต่ท่านพุทธทาสกล่าวว่าการสำเร็จเป็นพระอรหัตน์ไม่จำเป็นต้องรู้ ปฏิจจสมุปบาท กับอริยสัจสี่

    [๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจาก
ธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวก
ภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ
ใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ...
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ... พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียง
ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ... พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว ... พวก
เทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีได้ฟังเสียง
ของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว ... พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศ
แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้.
    [๑๖๗๒] โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการ
ฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ทั้งแสงสว่างอันยิ่ง หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏ
แล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพดาทั้งหลาย.
    [๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้นคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ
ด้วยประการฉะนี้แล.
                   จบ สูตรที่ ๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น