เถรคาถา ทสกนิบาต
๑. กาฬุทายีเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระกาฬุทายี
[๓๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้ทั้งหลาย มีดอกและใบมีสีแดงดัง
ถ่านเพลิง ผลิผลถอดใบเก่าล่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้นงามรุ่งเรือง
ดังเปลวเพลิง ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่ เวลานี้เป็นเวลาสมควร
อนุเคราะห์หมู่พระญาติ ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลายมี
ดอกบานงามดี น่ารื่นรมย์ใจส่งกลิ่นหอมฟุ้งตระหลบไปทั่วทิศโดยรอบ
ผลัดใบเก่า ผลิดอกออกผล เวลานี้เป็นเวลาสมควรจะหลีกออกไป
จากที่นี้ ขอเชิญพระพิชิตมารเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เถิด ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก เป็นฤดูพอสบาย
ทั้งมรรคาก็สะดวก ขอพวกศากยะและโกลิยะทั้งหลาย จงได้เข้าเฝ้าพระ
องค์ที่แม่น้ำโรหิณีอันมีหน้าในภายหลังเถิด ชาวนาไถนาด้วยความ
หวังผล หว่านพืชด้วยความหวังผล พ่อค้าผู้เที่ยวหาทรัพย์ย่อมไปสู่
สมุทรด้วยความหวังทรัพย์ ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ด้วยความหวังผล
อันใด ขอความหวังผลอันนั้นจงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด ชาวนาหว่าน
พืชบ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วย
ธัญญาหารบ่อยๆ พวกยาจกเที่ยวขอบ่อยๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้บ่อยๆ
ครั้นให้บ่อยๆ แล้วย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ บุรุษผู้มีความเพียร มี
ปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมยังสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
ตลอด ๗ ชั่วคน ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าประเสริฐ
กว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์
เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่าเป็นนักปราชญ์ สมเด็จพระบิดาของ
พระองค์ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่าสุทโธทนะ สมเด็จ
พระนางเจ้ามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระพุทธมารดา
ทรงบริหารพระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มา ด้วยพระครรภ์เสด็จสวรรคต
ไปบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวีนั้น ครั้นสวรรคต
จุติจากโลกนี้แล้ว ทรงพรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ มีหมู่นางฟ้า
ห้อมล้อม บันเทิงด้วยเบญจกามคุณ อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า
ผู้ไม่มีสิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้จะเปรียบปาน
ผู้คงที่ ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นโยมของพระบิดา ของโยมบิดา
แห่งอาตมภาพ ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นพระไอยกาของอาตมภาพ
โดยธรรม.
๒. เอกวิหาริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ
[๓๗๑] ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมี
แก่เราผู้อยู่ในป่าผู้เดียว ผิฉะนั้น เราผู้เดียวจักไปสู่ป่าอันพระพุทธเจ้า
ทรงสรรเสริญว่า ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุอยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว
เราผู้เดียวเป็นผู้ชำนาญในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ อัน
ทำให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน
โดยเร็วพลัน เราผู้เดียว จักอาบน้ำในซอกเขาอันเยือกเย็นในป่าอันเย็น
มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ เมื่อไรเราจึงจักได้
อยู่ในป่าใหญ่อันน่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง จักเป็นผู้ทำกิจสำเร็จ
หาอาสวะมิได้ ขอความประสงค์ของเราผู้ปรารถนาจะทำอย่างนี้จงสำเร็จ
เถิด เราจักยังความประสงค์ของเราให้สำเร็จจงได้ ผู้อื่นไม่อาจ
ทำผู้อื่นให้สำเร็จได้ เราจักผูกเกราะ คือ ความเพียร จักเข้า
ไปสู่ป่าใหญ่ เรายังไม่บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว จักไม่ออกไปจากป่า
นั้นเมื่อลมพัดเย็นมา กลิ่นดอกไม้ก็หอมฟุ้งมา เราจักนั่งอยู่บนยอดเขา
ทำลายอวิชชา เราจักได้รับความสุขรื่นรมย์อยู่ด้วยวิมุตติสุขในถ้ำที่เงื้อม
เขา ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็น อันมีอยู่ใน
ป่าใหญ่เป็นแน่ เรามีความดำริอันเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ใน
วันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี.
๓. มหากัปปินเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมหากัปปินเถระ
[๓๗๒] ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้งหรือแสวงหาประโยชน์ ย่อมพิจารณาเห็นกิจ
ทั้งสอง คือ ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ อันยังไม่มาถึง
ได้ก่อนอมิตรหรือศัตรูของผู้นั้น ซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ไม่ทันเห็น ผู้นั้น
เรียกว่า ผู้มีปัญญา ผู้ใดเจริญอานาปาณสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว
อบรมแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อม
ยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆฉะนั้น
จิตของเราผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้ว หาประมาณมิได้ เป็น
จิตประคองไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว บุคคล
ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นได้แน่แท้ ส่วนบุคคล
ผู้ไม่มีปัญญาถึงจะมีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่ง
ที่ตนฟังมาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ นรชน
ในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้ในเวลาที่ตนตกทุกข์ ก็
ย่อมได้รับความสุข ธรรมนี้มิใช่มีในวันนี้ ไม่ใช่น่าอัศจรรย์
และไม่ใช่เคยมีมาแล้ว แต่ดูเหมือนเป็นของที่ไม่เคยมีในโลก ซึ่ง
เป็นที่เกิดที่ตาย เมื่อสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความ
ตายแน่แท้ สัตว์ที่เกิดมาแล้วๆ ในโลกนี้ ย่อมตายไปทั้งนั้น
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ชีวิตอันใดเป็นประโยชน์
แก่บุรุษเหล่าอื่น ชีวิตอันนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
อันการร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้
เกิดความสรรเสริญ สมณะและพรหมณ์ไม่สรรเสริญเลย การ
ร้องไห้ย่อมเบียดเบียนจักษุและร่างกาย ทำให้เสื่อมวรรณะ กำลัง
และความคิด ชนทั้งหลายผู้เป็นข้าศึกย่อมมีจิตยินดี ส่วนชน
ผู้เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้น บุคคลพึงปรารถนา
ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นพหูสูต ให้อยู่ในสกุลของตน เพราะ
กิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ ด้วยกำลังปัญญาของท่านที่เป็นนักปราชญ์
และเป็นพหูสูตเท่านั้น เหมือนบุคคลข้ามแม่น้ำอันเต็มฝั่ง ด้วยเรือ
ฉะนั้น.
๔. จูฬปันถกเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระจูฬปันถกเถระ
[๓๗๓] เมื่อก่อน ญาณคติเกิดแก่เราช้า เราจึงถูกดูหมิ่น และพี่
ชายจึงขับไล่เราว่า จงกลับไปเรือนเดี๋ยวนี้เถิด เราถูกพี่ชายขับไล่แล้ว
ไปยืนร้องไห้อยู่ที่ใกล้ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะยังมีความอาลัยในศาสนา
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมา ณ ที่นั้น ทรงลูบศีรษะเรา ทรงจับแขนเรา
พาเข้าไปสู่สังฆาราม พระศาสดาทรงอนุเคราะห์ ประทานผ้าเช็ดพระบาท
ให้แก่เรา ตรัสว่า จงอธิษฐานผ้าสะอาดผืนนี้ให้ตั้งมั่นดีโดยมนสิการว่า
รโชหรณํๆ ผ้าสำหรับเช็ดธุลีๆ จงตั้งจิตให้มั่น นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว เกิดความยินดีในศาสนา ได้
บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด เราระลึกถึงชาติ
ก่อนๆ ได้ ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว ได้บรรลุวิชชา ๓
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำสำเร็จแล้ว พระจูฬปันถก
เถระได้เนรมิตตนขึ้นพันหนึ่ง นั่งอยู่ที่ชีวกัมพวันอันรื่นรมย์ จนถึง
เวลาเขามาบอกนิมนต์ ครั้งนั้น พระศาสดาทรงส่งทูตไปบอกเวลา
ภัตตาหารแก่เรา เมื่อทูตบอกเวลาภัตตาหารแล้ว เราได้เข้าไป
เฝ้าโดยอากาศ ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว นั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระศาสดาทรงรับรองเราผู้
ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ เราเป็นผู้ควรบูชาของโลกทั้งปวง เป็นผู้
ควรรับของอันเขานำมาบูชา เป็นนาบุญแห่งหมู่มนุษย์ ได้รับ
ทักษิณาทานแล้ว.
๕. กัปปเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระกัปปเถระ
[๓๗๔] ร่างกายนี้ เต็มไปด้วยของอากูลและของอันเป็นมลทินต่างๆ มี
หลุมคูถใหญ่เป็นที่เกิด เป็นดุจบ่อน้ำครำอันมีมานมนาน เป็น
ดุจฝีใหญ่ เป็นดุจแผลใหญ่ เต็มไปด้วยหนองและเลือด เต็มไปด้วย
หลุมคูถ มีน้ำไหลออกเป็นนิตย์ มีของเน่าไหลออกทุกเมื่อ กายอัน
เปื่อยเน่านี้รัดรึงด้วยเอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา คือ
เนื้อ หุ้มห่อด้วยเสื้อ คือ หนัง เป็นของหาประโยชน์มิได้
เป็นของสืบต่อเนื่องกันด้วยร่างกระดูก เกี่ยวร้อยด้วยด้าย คือเส้น
เอ็น เปลี่ยนอิริยาบถได้ เพราะยังมีเครื่องประกอบพร้อม นรชน
ผู้ยังคลุกคลีอยู่ในกามคุณ เป็นผู้ตระเตรียมไปสู่ความตายเป็นนิตย์ เป็น
ผู้ตั้งอยู่ในที่ใกล้มัจจุราช จักต้องทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้เอง กายนี้
เองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผูกรัดด้วยเครื่องผูก ๔ ประการ จมอยู่
ในห้วงน้ำ คือ กิเลส ปกคลุมไว้ด้วยข่าย คือ กิเลสอันนอน
เนื่องอยู่ในสันดาน ประกอบแล้วในนิวรณ์ ๕ เพียบพร้อม
ด้วยวิตก(ความคิด) ประกอบด้วยรากเหง้าแห่งภพ คือ ตัณหา ปก
ปิดด้วยเครื่องปกปิด คือ โมหะ (อวิชชา)หมุนไปอยู่ด้วยเครื่องหมุน คือ
กรรม ร่างกายนี้ย่อมมีสมบัติกับวิบัติเป็นคู่กัน มีความเป็นต่างๆ กัน
เป็นธรรมดา ปุถุชนคนอันธพาลเหล่าใด มายึดถือร่างกายนี้ว่าเป็น
ของเรา ย่อมยังสงสารอันน่ากลัวให้เจริญ ปุถุชนเหล่านั้นย่อมถือเอา
ภพใหม่อีก กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตเหล่าใด ละเว้นร่างกายอันฉาบทาแล้ว
ด้วยคูถ ดังบุรุษผู้ประสงค์ความสุขอยากมีชีวิตอยู่ เห็นอสรพิษแล้ว
หลีกหนีไปฉะนั้น กุลบุตรเหล่านั้นละอวิชชาอันเป็นรากเหง้าแห่งภพแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะจักปรินิพพาน.
๖. อุปเสนวังคันตปุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ
[๓๗๕] ภิกษุส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง เป็นที่อยู่อาศัย
แห่งสัตว์ร้ายเพราะการหลีกออกเร้นเป็นเหตุ ภิกษุพึงเก็บผ้ามาจากกอง
หยากเยื่อ จากป่าช้า จากตรอกน้อยตรอกใหญ่ แล้วทำเป็นผ้านุ่งห่ม
พึงทรงจีวรอันเศร้าหมอง ภิกษุควรทำใจให้ต่ำ คุ้มครองทวาร สำรวม
ดีแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาต ตามลำดับตรอก คือ ตามลำดับสกุล ภิกษุ
พึงยินดีด้วยของๆ ตน แม้จะเป็นของเศร้าหมอง ไม่พึงปรารถนารส
อาหารอย่างอื่นมาก เพราะใจของบุคคลผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดี
ในฌาน ภิกษุควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็น
มุนี ไม่คลุกคลีด้วยพวกคฤหัสถ์ และพวกบรรพชิตทั้งสอง ภิกษุผู้
เป็นบัณฑิต ควรแสดงตนให้เป็นคนบ้าและคนใบ้ ไม่ควรพูดมากใน
ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ควรเข้าไปกล่าวว่าใครๆ ควรละเว้นการเข้ากระทบ
กระทั่ง เป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ และพึงเป็นผู้รู้จักประมาณใน
โภชนะ เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิต มีนิมิตอันถือเอาแล้ว
พึงประกอบสมถะและวิปัสสนาตามเวลาอันสมควรอยู่เนืองๆ พึง
เป็นบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรเป็นนิตย์ เป็นผู้ประกอบภาวนา
ทุกเมื่อ ด้วยความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ไม่พึงถึงความวางใจ
อาสวะทั้งปวงของภิกษุ ผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์
เป็นอยู่อย่างนี้ ย่อมสิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพาน.
๗. โคตมเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโคตมเถระ
[๓๗๖] บุคคลพึงรู้จักประโยชน์ของตน พึงตรวจตราดูคำสั่งสอนของพระ
ศาสดา และพึงตรวจตราสิ่งที่สมควรแก่กุลบุตร ผู้เข้าถึงซึ่ง
ความเป็นสมณะในศาสนานี้ การมีมิตรดี การสมาทานสิกขา
ให้บริบูรณ์ การเชื่อฟังต่อครูทั้งหลาย ข้อนี้ล้วนแต่สมควรแก่
สมณะ ในศาสนานี้ ความเคารพในพระพุทธเจ้า ความยำ
เกรงในพระธรรมและพระสงฆ์ตามความเป็นจริงข้อนี้ ล้วนสมควร
แก่สมณะ การประกอบในอาจาระและโคจร อาชีพที่หมดจด อัน
บัณฑิตไม่ติเตียน การตั้งจิตไว้ชอบนี้ ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
จาริตศีลและวาริตศีล การเปลี่ยนอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส และ
การประกอบในอธิจิต ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ เสนาสนะ
ป่าอันสงบ ปราศจากเสียงอึกทึก มุนีพึงคบหา นี้เป็นของสม
ควรแก่สมณะ จตุปาริสุทธศีล พาหุสัจจะ การเลือกเฟ้น
ธรรมตามความเป็นจริง การตรัสรู้อริยสัจ นี้ก็ล้วนแต่สมควร
แก่สมณะ ข้อที่บุคคลมาเจริญอนิจจสัญญาในสังขารทั้งปวงว่า สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง เจริญอนัตตสัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
และเจริญอสุภสัญญาว่า กรัชกายนี้ไม่น่ายินดีในโลก นี้ก็ล้วนแต่
สมควรแก่สมณะ การที่บุคคลมาเจริญโพชฌงค์ ๗ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ล้วนสมควรแก่สมณะ
การที่บุคคลผู้เป็นมุนีมาละตัณหาทำลายอาสวะ พร้อมทั้งรากเหง้า เป็น
ผู้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสอยู่ ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ.
____________________
ในทสกนิบาตนี้ พระเถระ ๗ องค์ คือ พระกาฬุทายีเถระ ๑
พระเอกวิหาริยเถระ ๑ พระมหากัปปินเถระ ๑ พระจูฬปันถกเถระ ๑
พระกัปปเถระ ๑ พระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ ๑ พระโคตมเถระ ๑
ได้เปล่งอุทานคาถาองค์ละ ๑๐ คาถา รวมเป็น ๗๐ คาถา ฉะนี้แล.
จบ ทสกนิบาต.
____________________
เถรคาถา เตรสกนิบาต
๑. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ
[๓๘๐] ผู้ใดเป็นผู้สำเร็จความปรารถนา เป็นผู้สูงสุดในแว่นแคว้นของพระเจ้า
อังคะ วันนี้ ผู้นั้นมีนามว่าโสณะ เป็นผู้เยี่ยมในธรรมทั้งหลาย
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์
เบื้องบน ๕ และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็น
เครื่องข้อง ๕ ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ศีล สมาธิ และ
ปัญญา ของภิกษุผู้มีมานะเพียงดังว่าไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว ผู้ประมาท
ยินดีในอายตนะอันมีในภายนอก ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ กิจใดที่
ควรทำ ภิกษุเหล่านี้มาละทิ้งกิจอันนั้นเสีย แต่มาทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีมานะเพียงดังไม้อ้ออันยก
ขึ้นแล้ว เป็นผู้ประมาท ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็น
นิตย์ ภิกษุเหล่านั้นกระทำกรรมที่ควรทำเนืองนิตย์ ย่อมไม่เสพกรรมมิใช่
กิจอาสวะของภิกษุเหล่านั้นผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นสูญ เมื่อ
มีทางตรงพระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินไปเถิด
อย่าพากันกลับ จงตักเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าไปสู่นิพพาน
เมื่อเราปรารภความเพียร พระศาสดาผู้มีพระจักษุยอดเยี่ยมในโลก ได้
ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา เราฟังพระดำรัสของพระองค์
แล้ว ยินดีอยู่ในพระศาสนา ยังสมถภาวนาให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุ
ประโยชน์อันสูงสุด เราบรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธ
เจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว จิตของเราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ ในความวิเวก
แห่งจิต ในความไม่เบียดเบียน ในความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ในความ
สิ้นตัณหาและในความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะ
เห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ การสั่งสมย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้หลุด
พ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบระงับเสร็จกิจแล้ว กิจอื่นที่จะพึงทำอีกไม่มี
ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม
ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์
และ อนิฏฐารมณ์ ย่อมไม่ทำจิตของบุคคลผู้คงที่ให้หวั่นไหวได้ ฉันนั้น จิต
ของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์
อะไรๆ เพราะผู้คงที่นั้นพิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น.
_____________________
ในเตรสกนิบาตนี้ พระโสณโกฬิวิสเถระผู้มีมหิทธิฤทธิ์รูปเดียวเท่านั้น
ได้ภาษิตคาถาไว้ ๑๓ คาถา ฉะนี้แล.
จบ เตรสกนิบาต
_____________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น