หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จำแนกองค์แห่งฌาณ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.อยุตโต)


ที่มา http://board.palungjit.com/f14/จำแนกองค์แห่งฌาณ-268849.html 
ที่มา  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/215510? 
ที่มา  http://www.dhammathai.org/webboard/dbview.php?No=1457

จำแนกองค์แห่งฌาณ
เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถทำให้อัปปนาสมาธิเกิดได้แล้ว   เป็นอันว่าท่านได้บรรลุ  
ปฐมฌานอันมี วิตก  วิจาร ปีติ   สุข  เอกัคคตา   สามารถข่มนิวรณ์ธรรม   ๕  ลงได้   คือ



๑.  เอกัคคตา  ข่ม   กามฉันทะ


๒.  ปีติ   ข่ม พยาบาท


๓.  วิตก ข่ม ถีนมิทธะ


๔.  สุข ข่ม อุทธจจกุกกุจจะ


๕.  วิจาร ข่ม วิจิกิจฉา

(พุทธโฆษจารย์, วิสุทธิมรรค.  หน้า ๒๒๗)



ปฐมฌาน  
ฌานที่ ๑



ปฐมฌาน  เป็นฌานที่หนึ่ง  ในรูปฌาน ประกอบด้วยองค์ ๕ 
คือ วิตก  วิจาร   ปีติ  สุข  เอกัคคตา


(พระธรรมปิฎก (ป.อ.อยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม,  หน้า ๘๑.)
วิตก  มีลักษณะ  การคิด   การหมายรู้อารมณ์   ความเป็นผู้ตั้งมั่น  การนึกตามและการปรารถนาที่ถูกต้อง  แม้ปราศจากความเข้าใจ   เปรียบได้กับการท่องจำบทสวดมนต์   เช่น  ผู้ที่กำลังเจริญปถวีกสิณ   ท่องคำว่า  ปฐวี ๆ  ๆๆ  หรือ ดิน ๆๆ  ๆ   อยู่ตลอดในขณะที่คิดถึงด้วยความตั้งมั่น  ขณะนั้น  ชื่อว่า  วิตก   ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ




วิจาร  มีลักษณะ  การพิจารณา การไตร่ตรอง   การผูกพันจิตไว้ในอารมณ์  โดยไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย   ในอารมณ์ที่เกิดในระหว่างที่พิจารณาอยู่ นั้น   ทำใจให้เป็นอุเบกขาในอารมณ์  ผู้เจริญปถวีกสิณ   ใส่ใจอยู่ในอาการหลายอย่างที่จิตหยั่งเห็นในขณะที่เพ่งปถวีนิมิตอยู่   นี้เรียกว่าวิจารได้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติอยู่



เปรียบเทียบความแตกต่าง   ของวิตกกับวิจาร   อุปมาเหมือนการตีระฆัง   เสียงที่เกิดขึ้นครั้งแรก  เปรียบได้กับวิตก   เสียงสะท้อนที่เกิดตามมา   เปรียบได้กับวิจาร   อนึ่งเปรียบเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ของจิต (ธรรมารมณ์)   ตอนเริ่มต้นเป็นวิตก  ตอนที่เหลือเป็นวิจาร  ความประสงค์ที่จะได้ฌานเป็นวิตก  การรักษาฌานไว้เป็นวิจาร  สภาพจิตที่หยาบเป็นวิตก   สภาพจิตที่ละเอียด  เป็นวิจาร  ที่ใดมีวิตกที่นั่นมีวิจาร  ที่ใดมีวิจาร   ไม่จำเป็นต้องมีวิตก


(พระอุปติสสเถระ,  วิมุตติมรรค.  หน้า ๘๖.)
ปีติ   ในขณะที่จิตมีความอิ่มเอิบสบายอย่างเหลือเกิน   ประกอบด้วยความเย็นสนิท  นี้เรียกว่า  “ปีติ”  เกิดได้จากสาเหตุ  ๖  ประการ   คือ



๑.  เกิดจากราคะ   เพราะความชอบ   ความหลงและความอิ่มใจที่เกิดจากกิเลส


๒.  เกิดจากศรัทธา   เพราะความอิ่มใจของบุคคลที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า   ต่อสิ่งที่ตนเคารพ  เชื่อถือ เช่น   การได้เห็นพระพุทธเจ้า  เป็นต้น


๓.  เกิดจากความไม่ดื้อด้าน   เพราะเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ต่อสิ่งต่าง ๆ จนเกิดความอิ่มอกอิ่มใจ


๔.  เกิดจากวิเวก  ได้แก่ความอิ่มใจของบุคคลผู้ได้ปฐมฌาน


๕.  เกิดจากสมาธิ  ได้แก่ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน


๖.  เกิดจากโพชฌงค์   ได้แก่ความอิ่มใจที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตรมรรคในทุติยฌาน




ปีติ  ๕  แสดงถึงปริมาณของปีติที่เกิด   ดังนี้



๑.  ขุททกาปีติ  ปีติทำให้ขนชูชันเล็กน้อย  แล้วก็หายไป


๒.  ขณิกาปีติ  ปีติที่เกิดขึ้นชั่วขณะเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ


๓.  โอกกันติกาปีติ  ปีติที่กระทบกายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง   คือ  เกิดขึ้นแล้วก็หายไปเกิดขึ้นแล้วก็หายไปอยู่อย่างนั้น


๔.  อฺพเพงคาปีติ  ปีติที่ซาบซ่านแผ่ไปทั่วร่างกาย  เหมือนก้อนเมฆหนาทึบที่เต็มไป


๕.  ผรณาปีติ  ปิติที่ซาบซ่านแผ่ไปทั่วร่างกาย  เหมือนก้อนเมฆหนาทึบที่เต็มไปด้วยฝน




ขุททกาปีติและขณิกาปีติ  สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา  โอกกันติกาปีติที่มีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้นได้  อุพเพงคาปีติที่ยึดดวงกสิณทำให้เกิดกุศลและอกุศลได้ และขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้เพ่ง  ส่วนผรณาปีติอันบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่งอัปปนาสมาธิเท่านั้น 

สุข การประสบกับสิ่งที่ชอบใจคือความสุข  มีความสงบเยือกเย็นเป็นปทัฏฐาน

(พระอุปติสสเถระ,  วิมุตติมรรค.  หน้า ๘๖.)


สุข  แปลว่า  ความสุข  หมายถึงความสำราญ  ชื่นฉ่ำ  คล่องใจ  ปราศจากการบีบคั้นหรือรบกวนใด ๆ
(พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) พุทธธรรม. หน้า ๘๗๓.



เอกัคคตา   หมายถึง   การที่จิตมีอารมณ์เดียว คือ   จิตที่ยึดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด  โดยไม่คิดส่ายไปในอารมณ์อื่น ๆ  เลย  แม้ช่วงขณะจิต  เช่น จิตอยู่กับปถวีนิมิต  หรืออยู่กับลมหายใจ  เป็นต้น เรียกจิต  เช่นนั้นว่า  จิตเตกัคคตา


ก็เมื่อองค์ ๕   เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วย่อมเชื่อว่า  ปฐมฌาน  ได้เกิดขึ้นแล้ว 

เมื่อสามารถทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้แล้ว   อย่างเพิ่งรีบร้อนทำทุติยฌาน เพราะอาจจะทำให้ปฐมฌานนั้นเสื่อม   และก็ไม่อาจทำทุติฌานให้เกิดได้อีกด้วย   จะต้องสร้างความชำนาญในปฐมฌานที่ท่านเรียกว่า วสี   ๕ ประการให้ชำนาญเสียก่อน  ดังนี้



๑.  อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌาน   ด้วยมโนทวาราวัชชนจิต


๒.  สมปัชวสี ความสามารถในการเข้าฌาน


๓.  อธิฏฐานวสี    ความสามารถในการให้ฌานดำรงอยู่ตามกำหนด


๔.  วุฏฐานวสี ความสามารถในการออกฌานตามกำหนด


๕.  ปัจจเวกขณวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิต



เมื่อฝึกวสีทั้ง  ๕  ประการในปฐมฌานดีแล้วจึงค่อยเริ่มการฝึกเข้าสู่ทุติยฌานต่อไป  ดังนี้ 

ทุติยฌาน  ฌานที่ ๒  มีองค์ ๓  คือ  ปีติ  สุข  เอกัคคตา


(พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม.  หน้า ๗๑.)


เธอบรรลุ  ทุติยฌานซึ่งมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน   เป็นธรรมเอกผุดขึ้น  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  เพราะวิตกวิจารระงับไป  มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่

(ที.ม. ๑๐/๔๐๒/๒๖๗ มหาจุฬาเตปิกํ ๒๕๐๐.)


จากคำอธิบายข้างต้นที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ทุติยฌาน   เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ   วิตกและวิจาร  ระงับไป   คงเหลือแต่ปีติ  สุข  และเอกัคคตา 

การเข้าทุติยฌาน

ทั้งก่อนและหลังอาหาร  ทั้งปฐมยามและปัจฉิมยาม   ภิกษุฝึกน้อมนึกการเข้า   ความตั้งมั่นการออก  และการพิจารณา  ตามความปรารถนาของเธอ (ฝึกวสี ๕ ประการนั่นเอง)   ถ้าเธอเข้าปฐมฌานและออกปฐมฌานบ่อย ๆ  และได้รับความสะดวกในการบำเพ็ญปฐมฌาน  เธอย่อมได้รับสุข  และทำทุติยฌานให้เกิดขึ้นได้ และก้าวพ้นปฐมฌาน   อนึ่ง  ภิกษุนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า “ปฐมฌานนี้  ยังหยาบทุติยฌานละเอียด   เธอมองเห็นโทษของปฐมฌานและอานิสงส์ของทุติฌาน  เมื่อน้อมนึกอยู่อย่างนี้ย่อมเห็นโทษของปฐมฌานและอานิสงส์ของทุติยฌาน   ในที่สุดก็จะเข้าสู่ทุติยฌานได้ตามความปรารถนา

(พระอุปติสสเถระ  วิมุตติมรรค,  หน้า ๙๘-๙๙.)
ตติยฌาน  ฌานที่ ๓  มีองค์  ๒ คือ  สุข  เอกัคคตา


การเข้าตติยฌาน

การเข้าคติยฌานก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับการเข้าทุติยฌาน  คือ   เมื่อเข้าสู่ทุติยฌานได้แล้วก็   ทำวสี  ให้เกิดขึ้นคล่องแคล่วแล้ว  จิตก็จะยกขึ้นสู่   ตติยฌาน ได้เอง   เมื่อปีติจางหายไปดังพระบาลีว่า


เธอมีอุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะ  เสวยสุขด้วยนามกาย   เพราะปีติสิ้นไป   บรรลุตติยฌานที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า  ผู้ได้ฌานนี้  เป็นผู้มีอุเบกขา   มีสติ  อยู่เป็นสุข
(ที.ม. ๑๐/๔๐๒/๒๖๗ มหาจุฬาเตปิกํ ๒๕๐๐.)
จตุตถฌาน  ฌานที่ ๔   (the  Fourth Absorption )  มีองค์ฌานเดียว  คือ เอกัคคตา

การเข้าจตุตถฌาน

การเข้าจตุตถฌานก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับการเข้าตติยฌาน  คือ เมื่อเข้าสู่ตติยฌานได้แล้วก็ทำวสีให้เกิดขึ้นจนคล่องแคล่วแล้ว  จิตก็จะยกขึ้นสู่จตุตถฌานได้เองเพราะจิตที่ปฏิบัติไป ๆก็จะเห็นความหยาบกระด้างของฌานเก่าที่ได้อยู่  ใคร่จะได้ฌานที่ละเอียดประณีตยิ่ง  ๆ   ขึ้นไป  ก็จะปล่อยอารมณ์ที่หยาบ (สุข)  ไปจับอยู่ในอารมณ์ที่ประณีตยิ่งขึ้น   (อุเบกขา)   ผู้เข้าสู่จตุตตถฌานจะเป็นดังพระบาลีว่า


เธอบรรลุจตุตถฌาน  ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข  เพราะละสุขและทุกข์  และดับโสมนัส และโทมนัสก่อน ๆ ได้  มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
(ที.ม. ๑๐/๔๐๒/๒๖๗ มหาจุฬาเตปิกํ ๒๕๐๐.)
ฌานทั้ง ๔  เรียกว่า  รูปฌาน  เพราะยังต้องอาศัยอารมณ์หยาบที่เป็นรูปธรรมเป็นเครื่องเพ่งเพื่อให้เกิดนิมิต  โดยเริ่มตั้งแต่ ขณิกสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ


เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุฌาน  ๔ และเกิดวสีในฌานเหล่านั้น   พร้อมทั้งอนุโลมปฏิบัติในฌานทั้ง ๔   จนเกิดความชำนาญ   จิตก็อ่อนโยนควรแก่การงานทางจิต   พร้อมที่จะนำจิตนั้นไปกระทำกิจต่าง ๆ เช่น  ทำฌานให้ยิ่ง  ๆ   ขึ้นไป   แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ จนถึงการเจริญวิปัสสนาจนสามารถทำตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส  บรรลุอรหัตตผล ซึ่งเป็นเป็นหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้


สำหรับการเจริญกสิณนั้น  จะขอกล่าวเฉพาะปถวีกสิณเท่านั้น  ส่วนกสิณที่เหลือมีวิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน  แตกต่างกันการจัดเตรียมอุปกรณ์เท่านั้น   เมื่อเตรียมอุปกรณ์ในการเพ่งเรียบร้อยแล้ว  ก็สามารถนำมาใช้เป็นกสิณเพื่อเพ่งให้เกิดสมาธิได้เช่นเดียวกับปถวีกสิณ 


นัตถิ  ฌานัง  อะปัญญัสสะ  นัตถิ  ปัญญา  อะฌายิโน

    ตัมหิ  ฌานัญจะ  ปัญญัญจะ นิพพานะสันติเก


                           คำแปล




ฌานไม่เกิดกับคนไม่มีปัญญา  ปัญญาก็ไม่เกิดกับคนไม่มีฌาน

     
ผู้ใดมีฌานและปัญญ ผู้นั้นได้อยู่ใกล้นิพพาน
 


               

พราหมโณ  ฌายี  ตะปะติ

 
นักพรตผู้มีฌานจึงรุ่งเรือง มีตบะกล้าในหมู่สมณะ




 
ถ้าท่านปฏิเสธฌาน ญาณจะเกิดได้อย่างไร

เพราะฌานเป็นเหตุ ญาณเป็นผล

นั่นคือ
สมถะเป็นเหตุ วิปัสสนาเป็นผล



เย ธัมมา เหตุปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต 


(พระอัสสชิ ตรัสสอนพระสารีบุตร)

ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เพราะเหตุดับ ผลย่อมดับ

ถ้าค้นหาสาเหตุเจอ สถานการณ์ต่างๆ ก็แก้ไขได้ 

นอกจากนี้ วิธีการทำกรรมฐานในยุคปัจจุบัน แทบทุกแห่งล้วนแต่ปฏิเสธการได้ฌานทั้งนั้น  สอนแต่เพียงให้ผู้ปฏิบัตินั่งใช้สติเฝ้าจับอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้ง  6  เป็นการไล่จับอารมณ์ไปตามอายตนะต่างๆ ที่รับรู้  ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เกิดฌานได้ เพราะฌานจะเกิดได้จิตจะต้องนิ่งอยู่ในใจอย่างเดียว พยายามตัดการรับรู้อารมณ์ภายนอกทั้งหมดทิ้ง จิตจะนิ่งอยู่กับอารมณ์ทางใจอย่างเดียว(เอกัคคตา - One Way) ฌานจึงจะเกิดได้



ถ้าหากว่าการใช้กรรมฐานซึ่งเป็นวิธีการฝึกจิตที่เป็นระบบตามหลักการของพระพุทธศาสนาจริง ๆ เรื่องของฌานสมาธิก็ไม่ได้เกินวิสัยของมนุษย์ที่จะทำได้  



ในข้อนี้พวกเราในยุคหลังก็ควรท่องคติพจน์ของพระพุทธองค์ตอนที่ไปศึกษายังสำนักอาจารย์สองท่านจนทำให้ได้ฌาน 8 ระดับไว้ในใจด้วย เผื่อจะเป็นกำลังใจในการลงมือปฏิบัติดู เพื่อให้เกิดฌานจริงๆ โดยพระพุทธองค์ตั้งคติประจำใจว่า    


     
      ท่านเป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์  

      ท่านมีความเพียร เราก็มีความเพียร

     ดังนั้น \ ถ้าท่านทำได้ เราก็ต้องทำได้



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้พูดถึงเรื่องฌานที่มีผลต่อการบรรลุธรรมและทำให้เกิดอานุภาพต่างๆ ไว้หลายอย่าง  เพื่อความเข้าใจกระจ่างในเรื่องนี้  จะขอนำความหมายและผลที่ได้จากสมาธิมาอธิบายให้ฟัง ดังนี้



           ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถึงภิกษุผู้ได้ฌานแม้ได้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ชั่วดีดนิ้วมือครั้งหนึ่งว่า การได้ฌานเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ขนาดนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ห่างไกลจากฌาน ที่จะทำได้ในกาลต่อไป ชื่อว่าได้ทำได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา  ได้ปฏิบัติตามโอวาทของพระศาสดาแล้ว  ถ้าผู้นั้นเป็นพระภิกษุก็จะฉันบิณฑบาตของชาวบ้านอย่างไม่สูญเปล่า นี้พูดถึงการปฏิบัติได้ชั่วเวลาสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผู้ที่ทำได้นาน ๆ หรือทำได้มากกว่านี้



           นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า ฌานสมาธินี้สามารถที่จะทำให้สิ้นอาสวะกิเลสได้  ตั้งแต่ฌานขั้นแรกขึ้นไปก็สามารถปราบนิวรณ์ให้สงบระงับได้แล้ว แม้จะไม่หมดไปทีเดียวแต่ก็สามารถปราบได้เป็นคราวๆไป ไม่จำเป็นต้องพูดไปจนถึงฌานระดับที่สูงกว่านี้  ซึ่งแต่ละฌานล้วนมีหน้าที่ในการเผากิเลสเหมือนกันทั้งหมด  



ในตอนหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า เพียงแค่คนที่ทำฌาน 4 อย่างได้  คือ ตั้งแต่ขั้นแรกไปจนถึงขั้นที่ 4 อย่างใดอย่างหนึ่งนี้จนเกิดความชำนาญผู้นั้นจะไหลไปสู่นิพพาน(นิพพานนินโน)  จะน้อมไปสู่นิพพาน(นิพพานโปโณ)  และทำนิพพานให้เต็มบริบูรณ์ได้ (นิพพานปัพภาโร)



ในพระคาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกได้บรรยายคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงได้ปัญญาในการตรัสรู้ว่า เพราะสาเหตุมาจากการได้ฌานเหล่านี้เป็นฐานให้ ตั้งแต่ฌานที่ 1 ไปจนถึงฌานที่ 8  หรือจะพูดให้ถูกต้อง ก็เป็นเพราะผลมาจากฌานสมาธินี้เองที่ทรงทำให้มีปัญญาตรัสรู้ได้  ดังนั้น แสดงว่าฌานสมาธินี้มีผลต่อการบรรลุธรรมในทางพระพุทธศาสนาโดยตรง และที่สำคัญฌานยังเป็นข้อสำคัญของมรรคมีองค์ 8 ประการ ข้อสุดท้าย คือ สัมมาสมาธิ (สมาธิที่ประกอบด้วยฌาน) ถ้าขาดข้อนี้ มรรคก็คงเหลือแค่ มรรค 7 ไม่ครบองค์แห่งการตรัสรู้แน่นอน


 
           ในพระพุทธพจน์บทหนึ่งได้พูดถึงฌานที่ทำให้เกิดปัญญาและปัญญาได้มาจากฌานว่า  

นัตถิ  ฌานัง  อะปัญฺญัสสะ แปลว่า ฌานไม่มีกับคนที่ไม่มีปัญญา  

นัตถิ  ปัญญา  อะฌายิโน แปลว่า  ปัญญาก็ไม่เกิดกับคนที่ไม่มีฌานเหมือนกัน


และพระพุทธองค์ก็ยังทรงย้ำสรุปต่อไปอีกว่า


ถ้าผู้ใดมีฌานจนทำให้เกิดปัญญาหรือมีฌานและมีปัญญา ผู้นั้นจะได้อยู่ใกล้นิพพาน (นิพพานสันติเก) อย่างแน่นอน



           การได้ฌานสมาธิที่เป็นผลมาจากการฝึกจิตเป็นระบบตามวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ฝึกสามารถสำเร็จผลของการเป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์  ดังมีคราวหนึ่งในตอนเย็นวันพระ  15  ค่ำ  พระอานนท์ได้ยืนมองพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกดินที่มีรัศมีส่องประกายก่อนจะลับขอบฟ้าไปอย่างสวยงามมาก  ท่านยืนมองไปจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว

ครั้นหันกลับมามองไปยังทางทิศตะวันออกซึ่งพระจันทร์เต็มดวงกำลังโผล่ขึ้นพ้นขอบฟ้าขึ้นมาอีกฟากหนึ่ง พระจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญก็สวยงามไม่แพ้พระอาทิตย์กำลังจะตกดินเหมือนกัน ท่านพระอานนท์กำลังดื่มด่ำกับการมองพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่

แต่เมื่อกลับหลังหันมามองพระพุทธเจ้าซึ่งนั่งอยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์ภายใต้แสงจันทร์อันนวลผ่อง แต่พระรัศมีของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายออกมากลับมีความสวยงามกว่าแสงพระอาทิตย์และแสงดวงจันทร์ที่กำลังโผล่ขึ้นขอบฟ้ามาเสียอีก


           พระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนี้แก่พระพุทธองค์ว่า แสงแห่งพระอาทิตย์ในเวลาจะตกดินและแสงพระจันทร์เต็มดวงที่ขึ้นสู่ขอบฟ้าในยามที่ปราศจากเมฆหมอก ยังสวยสู้พระรัศมีของพระพุทธเจ้าไม่ได้


พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายถึงสิ่งที่รุ่งเรืองและงดงามในโลกนี้ 5 อย่าง  คือ  


พระอาทิตย์  จะรุ่งเรืองในตอนกลางวัน  

พระจันทร์จะรุ่งเรืองในตอนกลางคืน  

พระราชาจะรุ่งเรืองในขณะทรงเครื่องพระราชอิสริยยศ

เหล่านักพรตผู้ที่จะรุ่งเรืองที่สุด ก็คือ ผู้มีฌาน

แต่พระพุทธเจ้าจะรุ่งเรืองทั้งกลางวันทั้งกลางคืนเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด



จากเรื่องฌานสมาธิที่พูดมานี้ แสดงว่าการมีฌานสมาธิไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจตามที่มีหลายคนเข้าใจ แต่เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญควรยกย่องและควรเชื้อเชิญให้มีการนำไปฝึกปฏิบัติกันมากๆ เพื่อผลแห่งการชิมรสพระสัทธรรมของพระพุทธองค์



           การทำสมาธิด้วยวิธีการทางพระพุทธศาสนาที่สามารถทำฌานสมาธิให้เกิดได้นี้ ไม่ว่าจะเป็นกสิณชนิดใดก็ตาม สามารถทำฌานได้สูงสุดเหมือนกัน และเมื่อเราทำภาพนิมิตกสิณให้เด่นชัดขึ้นมาในใจได้ ภาพกสิณที่ผุดขึ้นมาในใจนั้นจะเด่นชัดยิ่งกว่าพระอาทิตย์กำลังจะตกดินหรือกำลังโผล่พ้นขึ้นขอบฟ้าในยามเช้ามืดเสียอีก  ในขณะที่เราเห็นภาพกสิณนิมิตเช่นนี้บ่อยๆ จิตจะสามารถหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์กสิณนั้นได้ และเมื่อเพ่งอยู่กับนิมิตกสิณนั้นนานๆ จิตเริ่มเป็นสมาธิมากขึ้น



ดังนั้น ผลของสมาธิที่ได้จากฌาน จึงทำให้เกิดปัญญารู้เข้าใจความจริงขึ้นมาได้ เพราะอำนาจของฌานสมาธินี้เป็นผลทำให้เกิด ท่านจึงเรียกว่า ฌานเป็นเหตุ  ญาณ(ความรู้)เป็นผล  หรือสมถะ[b]เป็น[b]เหตุ  วิปัสสนาเป็นผล  

ทั้งฌานและปัญญา 2  สิ่งนี้จะต้องเกิดต่อเนื่องกันไปไม่ใช่แยกกันทำ




           การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการปฏิเสธฌานสมาธิ  จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดฌานได้ เพราะเมื่อปฏิเสธฌานที่เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาแล้ว ปัญญาที่หวังกันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่งเพราะความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติเอง ที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดปัญญาโดยทั้งๆที่ไม่มีฐานรองรับจึงไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้ เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้คนจำนวนมากคิดว่า ฌานสมาธิเป็นเรื่องเกินเลยวิสัยไม่อาจทำได้ในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าเรารู้ถึงหลักวิธีการและปฏิบัติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ก็สามารถที่จะทำได้ เพราะว่าวิธีปฏิบัติหรือการบรรลุมรรคผล พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น    อกาลิโก  แปลว่าไม่ขึ้นต่อยุคต่อสมัย สามารถปฏิบัติได้ตลอดทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และในอนาคต  ถ้าเราชาวพุทธรู้หลักการข้อนี้แล้ว การเดินตามรอยบาทของพระพุทธองค์ก็คงไม่ยากเท่าที่ควรนัก ขอเพียงอย่างพึงด่วนสรุปว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เท่านั้นก็พอ



**************************************************************************


จากบทความของ  ดร.จรูญ วรรณกสิณานนท์   (คัดมาบางส่วน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น