หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อุปมา ๓ ข้อ ,ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา


 อุปมา ๓ ข้อ (การออกจากกาม)


     [๔๙๒] ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้น อุปมาสามข้ออันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่ได้เคยฟังมาในกาลก่อน
มาปรากฏแก่อาตมภาพ.
     ๑. เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมาด้วยหวังว่า จักถือเอา
ไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ ดังนี้. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความ
ข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สดชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำมาสีไฟ พึงให้ไฟเกิด พึงทำไฟให้
ปรากฏได้บ้างหรือ?
     โพธิราชกุมารทูลว่า ข้อนี้ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้ยังสด
ชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำ บรรลุนั้นก็จะพึงเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเปล่า.
ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งก็ฉันนั้น มีกาย
ยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหาย
ในกาม ยังมีความเร่าร้อนเพราะกาม ยังละไม่ได้ด้วยดี ยังให้สงบระงับไม่ได้ด้วยดีในภายใน.
ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี
ถึงจะไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น
เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่หนึ่งนี้แล อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ.
     [๔๙๓] ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สอง อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน
มาปรากฏแก่อาตมภาพ เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยางตั้งอยู่บนบกไกลน้ำ ถ้าบุรุษพึงมาด้วย
หวังว่า จะเอาไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะเข้าพระทัย
ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สดชุ่มด้วยยางตั้งอยู่บนบกไกลน้ำมาสีไฟ พึงให้ไฟเกิด
พึงทำไฟให้ปรากฏได้บ้างหรือ?

ข้อนี้ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้นั้นยังสดชุ่มด้วยยาง แม้จะตั้ง
อยู่บนบกไกลน้ำ บุรุษนั้นก็จะพึงเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเปล่า.
     ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจาก
กาม
แต่ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม มีความกระหายในกาม
มีความเร่าร้อนเพราะกาม ยังละไม่ได้ด้วยดี ยังให้สงบระงับไม่ได้ด้วยดีในภายใน
. ท่านสมณ
พราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงแม้
จะไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น
เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สองนี้ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ.
     [๔๙๔] ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สาม อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน
มาปรากฏแก่อาตมภาพ เปรียบเหมือนไม้แห้งเกราะทั้งตั้งอยู่บนบกไกลน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมาด้วย
หวังว่า จักเอาไม้นั้นมาสีให้ไฟเกิด จักทำไฟให้ปรากฏ
ดังนี้. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะเข้า
พระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้แห้งเกราะทั้งตั้งอยู่บนบกไกลน้ำนั้นมาสีไฟ พึงให้ไฟ
เกิด พึงทำให้ไฟปรากฏได้บ้างหรือ?
     อย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้นั้นแห้งเกราะ และทั้งตั้งอยู่บนบก
ไกลน้ำ.

     ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นแล มีกาย
หลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่ระหาย
ในกาม ไม่เร่าร้อนเพราะกาม ละได้ด้วยดี ให้สงบระงับด้วยดีในภายใน
ท่านสมณพราหมณ์
เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงจะไม่ได้
เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญา
เครื่องตรัสรู้ อันไม่มีกรรมอื่นยิ่งกว่าได้.
ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สามนี้อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้
ฟังมาในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ. ดูกรราชกุมาร อุปมาสามข้อ น่าอัศจรรย์ ไม่
เคยได้ฟังมาในกาลก่อนเหล่านี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ.


         
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา


     [๔๙๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน
กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้ร้อนจัด. แล้วอาตมภาพก็กดฟันด้วยฟัน
กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้ร้อนจัด. เมื่ออาตมภาพกดฟันด้วยฟัน กด
เพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่ เหงื่อก็ไหลจากรักแร้. ดูกรราชกุมาร
เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วกดบีบไว้ให้เร่าร้อน
ก็ฉันนั้น เหงื่อไหลออกจากรักแร้. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้ว จะย่อ
หย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้ว จะฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่การที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ
ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง กระสับกระส่ายไม่สงบระงับ.
     [๔๙๖] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี
ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพก็กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก.
เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก เสียงลมที่ออกทางช่องหูทั้งสอง
ดังเหลือประมาณ. เปรียบเหมือนเสียงสูบของช่างทองที่กำลังสูบอยู่ดังเหลือประมาณ ฉันใด
เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก เสียงลมที่ออกทางช่องหู
ทั้งสองก็ดังเหลือประมาณ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะย่อ
หย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้วจะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ
ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว.


     [๔๙๗] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี
ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ
ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้า
ยิ่งย่อมเสียดแทงศีรษะ. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงเชือดศีรษะด้วยมีดโกนอันคม
ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้ายิ่ง
ย่อมเสียดแทงศีรษะ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อน
ก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้วจะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้
อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว.
     [๔๙๘] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี
ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ
ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็ปวด
ศีรษะเหลือทนที่ศีรษะ. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังรัดศีรษะด้วยเชือกอันเขม็ง
ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็ปวดศีรษะ
เหลือทนที่ศีรษะ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หา
มิได้ สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความ
เพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว.
     [๔๙๙] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี
ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ
ทางช่องหู. ลมกล้าเหลือประมาณ ย่อมเสียดแทงท้อง. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนนายโคฆาต
หรือลูกมือนายโคฆาตผู้ขยัน พึงเชือดท้องโคด้วยมีดเชือดโคอันคม ฉันใด เมื่ออาตมภาพ
กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้าเหลือประมาณ ย่อมเสียด

แทงท้อง ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หามิได้
สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพผู้อันความเพียรที่ทน
ได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว.
     [๕๐๐] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี
ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ
ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มี
ความร้อนในกายเหลือทน. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังสองคน ช่วยกันจับบุรุษมี
กำลังน้อยที่แขนคนละข้าง ย่างรมไว้ที่หลุมถ่านเพลิง ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะ
ปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความร้อนในกายเหลือทน ฉันนั้น. ดูกร
ราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็
หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง
ไม่สงบระงับแล้ว.


     [๕๐๑] ดูกรราชกุมาร โอ เทวดาทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้ว กล่าวกันอย่างนี้ว่า
พระสมณโคดมทำกาละเสียแล้ว. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ทำกาละ
แล้ว แต่กำลังทำกาละ. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ทำกาละแล้ว กำลัง
ทำกาละก็หามิได้ พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ความอยู่เห็นปานนี้ นับว่าเป็นวิหารธรรม
ของพระอรหันต์.
     [๕๐๒] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติเพื่อตัด
อาหารเสียโดยประการทั้งปวงเถิด. ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นเข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่อตัดอาหารเสียโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่อ
ตัดอาหารเสียโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลายจักแซกโอชาอันเป็นทิพย์ตามขุมขนของท่าน
ท่านจักได้ยังชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยโอชาอันเป็นทิพย์นั้น. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราเองด้วย
พึงปฏิญาณการไม่บริโภคอาหารโดยประการทั้งปวง เทวดาเหล่านี้ด้วยพึงแซกโอชาอันเป็นทิพย์
ตามขุมขนของเรา เราพึงยังชีวิตให้เป็นไปด้วยโอชาอันเป็นทิพย์นั้นด้วย ข้อนั้นพึงเป็นมุสา
แก่เรา ดังนี้. อาตมภาพบอกเลิกกะเทวดาเหล่านั้น จึงกล่าวว่าอย่าเลย. แล้วอาตมภาพได้มี
ความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงบริโภคอาหารลดลงวันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อ
ถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง. อาตมภาพจึงบริโภค
อาหารลดลงวันละน้อย คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อ
ถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง. เมื่อบริโภคอาหารลดลงวันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง
เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง กายก็ผอม
เหลือเกิน.
     [๕๐๓] เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง อวัยวะน้อยใหญ่ของอาตมภาพย่อมเป็น
เหมือนเถาวัลย์มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ฉะนั้น. ตะโพกของอาตมภาพเป็นเหมือนเท้าอูฐ
ฉะนั้น. กระดูกสันหลังของอาตมภาพผุดระกะ เปรียบเหมือนเถาวัฏฏนาวฬี ฉะนั้น. ซี่โครง
ของอาตมภาพขึ้นนูนเป็นร่องๆ ดังกลอนศาลาเก่ามีเครื่องมุงอันหล่นโทรมอยู่ ฉะนั้น. ดวงตา
ของอาตมภาพถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ประหนึ่งดวงดาวปรากฎในบ่อน้ำลึก ฉะนั้น. ผิวศีรษะ
ของอาตมภาพที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ดุจดังผลน้ำเต้าที่ตัดมาสดๆ อันลมและแดดกระทบอยู่
ก็เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น. อาตมภาพคิดว่า จะลูบผิวหนังท้องก็จับถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า จะลูบ
กระดูกสันหลังก็จับถูกผิวหนังท้อง. ผิวหนังท้องกับกระดูกสันหลังของอาตมภาพติดถึงกัน. เมื่อ
อาตมภาพคิดว่าจะถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ  ก็เซซวนล้มลงในที่นั้นเอง. เมื่อจะให้กายนี้แลมี
ความสบาย จึงเอาฝ่ามือลูบตัว. เมื่ออาตมภาพเอาฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายมีรากเน่าก็หล่นตก
จากกาย. มนุษย์ทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้วกล่าวกันอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมดำไป. มนุษย์
บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ดำเป็นแต่คล้ำไป. มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า จะ
ว่าพระสมณโคดมดำไปก็ไม่ใช่ จะว่าคล้ำไปก็ไม่ใช่ เป็นแต่พร้อยไป. ดูกรราชกุมาร ฉวีวรรณ
อันบริสุทธิ์ผุดผ่องของอาตมภาพ ถูกกำจัดเสียแล้ว เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง.
     [๕๐๔] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียง
เท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักได้เสวยทุกขเวทนา
อันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จักไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ได้เสวยอยู่ซึ่งทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร
อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้. แต่เราก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณ
ทัสสนวิเสส (ความรู้ความเห็นของพระอริยะอันวิเศษอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์) ด้วย
ทุกกรกิริยาที่เผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางเพื่อรู้อย่างอื่นกระมังหนอ.
                  กลับเสวยพระกระยาหารหยาบ



(อริยมรรค ,ปฏิปทา สายกลางเครื่องเดินทาง )
     [๕๐๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราจำได้อยู่ เมื่องานวัปปมงคล
ของท้าวศากยะผู้พระบิดา

เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้แลหนอ พึงเป็นทางเพื่อ
ตรัสรู้. อาตมภาพได้มีความรู้สึกอันแล่นไปตามสติว่าทางนี้แหละ เป็นทางเพื่อตรัสรู้. อาตมภาพ
ได้มีความคิดเห็นว่า เราจะกลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ. และมี
ความคิดเห็นต่อไปว่า เราไม่กลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมละ. การที่
บุคคลผู้มีกายผอมเหลือเกินอย่างนี้ จะถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงบริโภค
อาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสดเถิด.
อาตมภาพจึงบริโภคอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสด.
ก็สมัยนั้น ปัญจวัคคีย์ภิกษุ บำรุงอาตมภาพอยู่ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด
ก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. นับแต่อาตมภาพบริโภคอาหารหยาบคือข้าวสุก ขนมสด.
ปัญจวัคคีย์ภิกษุก็พากันเบื่อหน่ายจากอาตมภาพหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้
มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากไปเสียแล้ว. ครั้นอาตมภาพบริโภคอาหาร
หยาบมีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
     บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
    บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.

     บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ
ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
(คห. อรูปฌาน กับ สัญญาเวทยิตนิโรธ หายไป เมื่อเปรียบเทียบกับ อนุปุพพวิหาร ๙ ตอนพระองค์ปรินิพพาน กับ พระนิพพานตามคำของพระอานนท์)
(การบรรลุธรรมหยั่งรู้ ปฏิจจสมุปบาท ๓ รอบ มีอาการ ๑๒)


                  ได้ญาณ ๓
     [๕๐๖] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ.
อาตมภาพนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ
อาตมภาพนั้น ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วย
ประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่หนึ่งที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี
อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่
อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
     [๕๐๗] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์
ทั้งหลาย อาตมภาพนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัด
ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สองที่อาตมภาพ
ได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
     [๕๐๘] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ.
ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่ออาตมภาพนั้น
รู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว


กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สาม
ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืด
ถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไป
แล้วอยู่.


         ทรงมีความขวนขวายน้อย
     [๕๐๙] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพนั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็น
ธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ระงับ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง. ก็หมู่สัตว์นี้
มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย. ก็การที่หมู่สัตว์ผู้มี
ความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย จะเห็นฐานะนี้ได้โดยยาก
คือ สภาพที่อาศัยกันเกิดขึ้นเพราะความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย. แม้ฐานะนี้ก็เห็นได้ยาก คือ สภาพ
เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความปราศจากความ
กำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ นิพพาน. ก็เราจะพึงแสดงธรรม และสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่รู้
ทั่วถึงธรรมของเรา นั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นความลำบากเปล่าของเรา.
ดูกรราชกุมาร ที่นั้น คาถาอันอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้ง
กะอาตมภาพว่า
 บัดนี้ ยังไม่สมควรจะประกาศธรรมที่เราบรรลุได้โดยยาก ธรรม
 นี้อันสัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกราคะ โทสะครอบงำ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย
 สัตว์ทั้งหลาย อันราคะย้อมแล้ว อันกองมืดหุ้มห่อแล้ว
 จักไม่เห็นธรรม อันยังสัตว์ให้ไปทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง
 เห็นได้ยาก เป็นอณู ดังนี้.
     ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพเห็นตระหนักอยู่ดังนี้ จิตของอาตมภาพก็น้อมไปเพื่อความ
เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม




       ท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม
     [๕๑๐] ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งใจของ
อาตมภาพด้วยใจแล้ว ได้มีความปริวิตกว่า ดูกรท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิต
ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไป
เพื่อแสดงธรรม. ครั้นแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมหายไปในพรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าของ
อาตมภาพ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น.
ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีมาทางอาตมภาพแล้วได้
กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอ
พระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อม
เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่. ดูกรราชกุมาร ท้าวสหัมบดีพรหม
ได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้ว ภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์อื่นนี้อีกว่า
    ธรรมที่ผู้มีมลทินทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่บริสุทธิ์ ได้ปรากฏใน
    ชนชาวมคธทั้งหลายมาก่อนแล้ว ขอพระองค์จงเปิดอริยมรรค
    อันเป็นประตูพระนิพพานเถิด ขอสัตว์ทั้งหลายจงได้ฟังธรรม
    ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทิน ตรัสรู้แล้วเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มี
    เมธาดี มีจักษุรอบคอบ ขอพระองค์ผู้ปราศจากความโศก
    จงเสด็จขึ้นปัญญาปราสาทอันแล้วด้วยธรรม ทรงพิจารณาดู
    ประชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก อันชาติชราครอบงำแล้ว
    เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาหินล้วน พึง
    เห็นประชุมชนโดยรอบ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ทรงชนะ
    สงครามแล้ว ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร ผู้ไม่เป็นหนี้ ขอจงเสด็จ
    ลุกขึ้นเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
    เถิด สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น