หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ว่าด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า

 ว่าด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า
     [๗๐๕] คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลส
ที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วยปัญญา
ความว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้านั่นแหละ
    ชื่อว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่
ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ตัณหา และส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ทิฏฐิ
     รากเง่าของธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหาเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิ
มานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี้เป็นรากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา.
     รากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิ
มานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี้เป็นรากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
     คำว่า ภควา เป็นพระนามเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ภควา
ความว่า ชื่อว่า ภควา
เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะ ทำลายโทสะ ทำลายโมหะ ทำลายมานะ ทำลายทิฏฐิ ทำลายเสี้ยนหนาม ทำลายกิเลส
เพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงจำแนกพิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะซึ่งธรรมรตนะ
เพราะอรรถว่า ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย
เพราะอรรถว่า มีพระกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะ ป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย
ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่วิเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายนะ ๘(ฌานเป็นที่ตั้งแห่งความครอบงำอารมณ์)
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. (ให้ดูลำดับตอนปรินิพพาน,สอนปัญจวคีย์,พระมหากัสสปะ,พระสารีบุตร,พระโมคคลานะ,)

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่ง สัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปาณสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่ง ตถาคตพละ ๑๐ เวสารัชชธรรม ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา.
พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา พระบิดา พระภาดาพระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็น สัจฉิกาบัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงแห่งโพธิพฤกษ์ ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว.(สาวกไม่มีญานฯ นี้  มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวดูเรื่องอจินไตย พระองค์มีครบสี่ข้อ แต่พระอรหัตน์มีแค่ ญานวิสัย)
     คำว่า พึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง . อัสมิมานะ ด้วยปัญญา
ความว่า ปัญญา เรียกว่า มันตา ได้แก่ ความรู้ ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ.
คำว่า อัสมิมานะ คือ อัสมิมานะ อัสมิฉันทะ อัสมิอนุสัย ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.
คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือกิเลสที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วย ปัญญา ความว่า ภิกษุพึงกำจัด สะกัด ดับ สงบ ปราบปราม ระงับ ซึ่งบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลสที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะ ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลสที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะ ด้วยปัญญา.
     [๗๐๖] คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน
ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดโดยทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้ ไม่มีส่วนเหลือ.
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด. คำว่า ตัณหา คือ รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา.
คำว่า ที่มี ณ ภายใน คือ ตัณหานั้นตั้งขึ้นภายใน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มี ณ ภายใน. อีกอย่างหนึ่ง
        จิต เรียกว่า ภายใน ได้แก่ จิต มนะ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ อันเกิดแต่วิญญาณขันธ์นั้น.
        ตัณหานั้น สหรคต เกิดร่วม เกี่ยวข้อง สัมปยุต มีความเกิดร่วมกัน มีความดับร่วมกัน
มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกันกับด้วยจิตคือใจ แม้เพราะฉะนี้ จึงชื่อว่า ที่มี ณ ภายใน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน.
                   
 ว่าด้วยผู้มีสติโดยเหตุ ๔
     [๗๐๗] คำว่า ในกาลทุกเมื่อ ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดซึ่งตัณหา
เหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ ความว่า ในกาลทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาล
เป็นนิตย์ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลนิรันดร์ ตลอดกาลเป็นอันเดียว ตลอดกาลติดต่อ ตลอด
กาลเป็นลำดับ ตลอดกาลไม่ขาดระยะ ตลอดกาลไม่มีระหว่าง ตลอดกาลสืบเนื่อง ตลอดกาล
ไม่ขาดสาย ตลอดกาลกระชั้นชิด ในกาลก่อนภัต ในกาลหลังภัต ในยามต้น ในยามกลาง
ในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น ใน
ตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง.
    คำว่า ผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ.
    เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อีกประการ
    หนึ่ง คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ เพราะเป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลาย
ที่ควรทำด้วยสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมอัน
เป็นนิมิตแห่งสติ.
    เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อีกประการหนึ่ง คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้
ประกอบด้วยสติ เป็นผู้อยู่ด้วยสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ.
    เป็นผู้มีสติ โดยเหตุ ๔ อีกประการหนึ่ง คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้
เพราะเป็นผู้สงบ เพราะเป็นผู้ระงับ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ.
    ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ
อานาปาณสติ มรณสติ กายคตาสติ อุปสมานุสสติ. ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ
ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ
สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค
นี้เรียกว่าสติ. บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง
เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้มีสติ.
 คำว่า พึงศึกษา ได้แก่สิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
          อธิศีลสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ศีลขันธ์น้อย ศีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่ตั้ง เป็นเบื้องต้น เป็นเบื้องบาท เป็นความสำรวม
เป็นความระวัง เป็นปาก เป็นประธาน แห่งความถึงพร้อมด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่าอธิศีลสิกขา.
     อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต
ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไป มีปีติและสุข
เกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ
ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา.
     อธิปัญญาสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา
อันให้ถึงความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ภิกษุนั้น
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ
นี้ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา.
     คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดซึ่งตัณหาเหล่านั้น ในกาลทุกเมื่อ ความว่า
ภิกษุพึงศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง คือ เมื่อนึกถึงสิกขาทั้ง ๓ นี้ ก็พึงศึกษา
เมื่อรู้ก็พึงศึกษา เมื่อเห็นก็พึงศึกษา เมื่อพิจารณาก็พึงศึกษา เมื่อตั้งจิตก็พึงศึกษา เมื่อน้อมใจ
เชื่อด้วยศรัทธาก็พึงศึกษา เมื่อประกอบความเพียรก็พึงศึกษา เมื่อเข้าไปตั้งสติก็พึงศึกษา
เมื่อตั้งจิตก็พึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญาก็พึงศึกษา เมื่อรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่
ควรรู้ยิ่งก็พึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ก็พึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละก็พึงศึกษา
เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญก็พึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งก็พึงศึกษา คือ
ประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติด้วยดี สมาทานประพฤติ เพื่อกำจัด กำจัดเฉพาะ ละ สงบ
สละคืน ระงับ ซึ่งตัณหาเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดซึ่ง
ตัณหาเหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือกิเลสที่เป็น 
          รากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วยปัญญา
           ก็ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษา
           เพื่อกำจัดซึ่งตัณหาเหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ.
     [๗๐๘] ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นภายใน หรือเป็นภายนอก
           ไม่พึงทำความรุนแรงด้วยคุณธรรมนั้น เพราะการทำความรุนแรงนั้น
           อันผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่าเป็นความดับกิเลส.

1 ความคิดเห็น:

  1. สาธุในธรรมครับผม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทุกข้อความ

    ตอบลบ