หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตรัสรู้สัจธรรม อุปกะชีวก



         ตรัสรู้สัจธรรม
     [๓๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเป็นผู้ชอบเสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหา
ทางสงบระงับอันประเสริฐ ซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ เมื่อเที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ
ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหล
ไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ. เราจึงคิดว่า ภูมิภาคเป็นที่น่า
รื่นรมย์หนอ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดีน่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม
ตั้งอยู่โดยรอบ เป็นที่สมควรเริ่มบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการจะบำเพ็ญเพียร. เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร.
     [๓๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราโดยตนเอง เป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดาทราบชัดโทษในสิ่ง
มีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิดหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่แก่
หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิ
เป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน
ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมี
โศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจาก
โยคะ เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้
บรรลุนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ และญาณทัสสนะได้เกิด
แก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป.
     [๓๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริดังนี้ว่า รรมที่เราได้บรรลุนี้แล ลึก เห็น
ได้โดยยาก รู้ตามได้โดยยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต อันความตรึกหยั่งไม่ถึง ละเอียด รู้ได้
แต่บัณฑิต(อรหันต์) ส่วนประชาชนนี้ เป็นผู้ยินดี เพลิดเพลินใจในอาลัย เป็นผู้เห็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็น
ปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ได้โดยยาก และเห็นได้โดยยากซึ่งธรรมที่สงบสังขารทั้งปวง(นิโรธ) สลัดอุปธิ
ทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหาเป็นที่สำรอก เป็นที่ดับ เป็นที่ออกจากตัณหา ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม
และคนอื่นไม่รู้ตามธรรมของเรา ก็จะเป็นความลำบาก เหน็ดเหนื่อยแก่เราเปล่า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ทั้งคาถาที่เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้สดับมาแต่ก่อน ก็ได้แจ่มแจ้งแก่เราดังนี้
     ธรรมนี้เราบรรลุได้โดยยาก บัดนี้ ไม่ควรประกาศ ธรรมนี้ไม่เป็นธรรมที่ชน
     ผู้มีราคะโทสะหนาแน่นตรัสรู้ได้โดยง่าย ชนผู้มีราคะกล้า ถูกกองความมืดหุ้มห่อไว้
     ย่อมไม่เห็นธรรมที่ยังสัตว์ให้ถึงที่ทวนกระแสโลก ละเอียด ลึก เห็นได้โดยยากเป็นอณู.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราคิดเห็นเช่นนี้ ก็มีจิตน้อมไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย
ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม 



     [๓๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ทราบความดำริของเรา จึงได้มี
ความปริวิตกว่า โอ โลกจะฉิบหาย แหลกลาญเสียแล้วหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้า มีพระทัยน้อมไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม
สหัมบดีพรหมจึงอันตรธานจากพรหมโลก มาปรากฏตัวตรงหน้าเรา คล้ายกับบุรุษผู้มีกำลัง
เหยียดแขนที่งอออก หรืองอแขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น แล้วจึงเฉวียงผ้าอุตราสงค์ ประคองอัญชลี
มาทางเรา กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ขอพระ
สุคตจงทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีที่ดวงตาน้อยเป็นปรกติมีอยู่ เพราะไม่ได้สดับธรรม
สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อม ผู้ที่รู้ธรรมจักมีอยู่ ครั้นสหัมมดีพรหมกล่าวดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถาประพันธ์
ต่อไปดังนี้ว่า

แต่ก่อน ในแคล้วมคธ ได้ปรากฏมีธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งชนพวกที่มีความ
     เศร้าหมองคิดไว้ ขอพระองค์จงทรงเปิดประตูอมฤตธรรม ขอสัตว์ทั้งหลาย
     จงได้สดับธรรมที่พระองค์ผู้ทรงหมดมลทินได้ตรัสรู้ ชนผู้อยู่บนยอดเขาศิลา
     พึงเห็นประชุมชนได้โดยรอบ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปรีชา มีพระเนตร
     คือปัญญาโดยรอบ ขอพระองค์ผู้หมดโศก จงเสด็จขึ้นปราสาทคือพระปัญญาที่
     สำเร็จด้วยธรรม ซึ่งเปรียบด้วยยอดเขาศิลาแล้ว จึงทรงตรวจดูประชุมชนผู้ระทม
     ด้วยความโศก ถูกชาติชราครอบงำ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงความเพียร
     ทรงชนะสงคราม ผู้นำหมู่สัตว์ ผู้หากิเลสมิได้ ขอพระองค์จงเสด็จเที่ยวไป
     โปรดสัตว์โลก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ผู้รู้ตามจักมีอยู่.
          สหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม
     [๓๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะทราบการอาราธนาของสหัมบดีพรหม และเพราะอาศัย
ความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เราจึงได้ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลี
ในดวงตาน้อยก็มี ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามากก็มี ผู้มีอินทรีย์กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มี
อาการดีก็มี ผู้มีอาการชั่วก็มี ผู้พอจะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ผู้จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวก
มีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลก มีอธิบายเป็นคำเปรียบว่า ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอ
บุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่กับน้ำยังจม
อยู่ภายในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่กับน้ำ ตั้งอยู่เสมอกับน้ำ
บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ น้ำกำซาบเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เราขณะ
ที่ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นเหล่าสัตว์ ฉันนั้น คือ บางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย
บางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก บางพวกมีอินทรีย์กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมี
อาการดี บางพวกมีอาการชั่ว บางพวกพอจะสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวก
มีปรกติเห็นโทษและภัยในปรโลก. เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า
   
เราได้เปิดประตูอมฤตธรรมรับชนผู้ชอบสดับ ซึ่งยื่นศรัทธาภาชนะออกรับ
     ดูกรพรหมเรานึกถึงความลำบาก จึงไม่ได้แสดงธรรมที่ประณีตซึ่งเราชำนาญดี
     ในหมู่มนุษย์.
     เมื่อสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาส เพื่อแสดงธรรมแล้ว
จึงอภิวาทเรา กระทำประทักษิณ อันตรธานไปในที่นั้น.
             ทรงรำพึงถึงปฐมเทศน
     [๓๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใคร
หนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็น
บัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยมานาน ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็น
ครั้งแรกแก่เธอ เธอจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว. ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วทูล
ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปแล้วได้ ๗ วัน. อนึ่ง เราก็
เกิดญาณทัสสนะว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปแล้วได้ ๗ วัน. เราจึงคิดดังนี้ว่า
อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้เสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้
สดับธรรมนี้ไซร้ ก็จะพึงทราบชัดได้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
แก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า อุททกดาบส รามบุตรนี้แลเป็น
บัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยมานาน ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็น
ครั้งแรกแก่เธอ เธอจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว. ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุททกดาบส รามบุตร ได้ตายไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้.
อนึ่ง เราก็เกิด
ญาณทัสสนะว่า อุททกดาบส รามบุตร ได้ตายไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้. เราจึงคิดดังนี้ว่า
อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้เสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้สดับธรรม
นี้ไซร้ ก็พึงทราบชัดได้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ
ใครจักทราบชัดธรรมนี้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากเรา ผู้กำลังบำเพ็ญ
เพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ. เรา
จึงคิดดังนี้ว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ในป่าอิสิป
ตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. ครั้นเราอยู่
ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี.



(ความเห็นผม....ญานทัสสนะคือ ญานรู้อริยสัจสี่ และปฏิจจสมุปบาทมี 3 รอบ อาการ 12 ตอนบรรลุธรรม ซึ่งไม่น่าเกี่ยวกับการรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์ ข้อที่น่าสังเกตุ แปลกตรงที่ว่า มีเทวดามาบอก ในขณะที่พระองค์มีญานหยั่งรู้ อจินไตย:พุทธวิสััย ญานวิสัย กรรมวิสัย โลกวิสัย ซึ่งไม่จำเป็นที่เทวดาจะต้องมา บอกพระองค์ แล้วความขัดแย้งอีกก็คือ หากเป็นเช่นนั้นแล้วท่านรู้ได้อย่างไรว่า ปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หากท่านไม่รู้ด้วยญานของพระองค์เอง อภิญญา ๖)



     [๓๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้เห็นเราผู้กำลังเดินทางไกลที่ระหว่างแม่น้ำ
คยาและต้นมหาโพธิ จึงถามเราว่า ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ฉวีวรรณของท่าน
บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ท่านได้บรรพชาเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของ
ใคร. เมื่ออุปกะอาชีวกถามอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวคาถาตอบว่า
     เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้แจ้งธรรมทั้งปวง อันตัณหาให้ติดไม่ได้ใน
     ธรรมทั้งปวง ละเว้นธรรมทั้งปวง พ้น (น้อมใจ) ไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
     เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองเราจะพึงแสดงใครเล่าว่า เป็นอาจารย์ อาจารย์ของเราไม่มี
     ผู้ที่ดีเหมือนเราไม่มี ผู้ที่เทียมเสมอเราไม่มี ในโลกทั้งเทวโลก เพราะเราเป็น
     พระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธองค์เอก เป็นผู้เย็น
     ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปบุรีของชาวกาสีเพื่อแสดงธรรมจักร โดยหมายจะ
     บันลือกลองอมฤตธรรม ในโลกที่มืดมน.
     อุปกะอาชีวกถามเราว่า เหตุใด ท่านจึงปฏิญาณว่า เป็นอรหันต์อนันตะชินะ? เราจึง
กล่าวคาถาตอบว่า
     ผู้ที่ถึงอาสวักขัยเช่นเรา ย่อมเป็นผู้มีนามว่า ชินะเพราะบาปธรรมทั้งหลายเราได้
     ชนะแล้ว ฉะนั้น เราจึงมีนามว่า ชินะ.
     เมื่อเรากล่าวตอบอย่างนี้ อุปกะอาชีวกนั้นได้กล่าวว่า พึงเป็นเช่นนั้นหรือ ท่าน สั่น
ศีรษะ แล้วหลีกทางไป.



_____________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น