หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ว่าด้วยการละรูปฌานและอรูปฌาน

 ว่าด้วยการละรูปฌานและอรูปฌาน
     [๑๘๕] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ปฐมฌานนี้เรากล่าวว่า ไม่ควรทำความ
อาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น
ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรม
เอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เป็น
ธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้ทุติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย
เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น ดูกรอุทายี
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้ตติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความ
อาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น
ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ
ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วง
ตติยฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้จตุตถฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลาย
จงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา
ได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้เป็นธรรม
เครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้อากาสานัญจายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำ
ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากาสา
นัญจายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า
วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรม
เครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราก็กล่าวว่า
ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วย
บริกรรมว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรม
เครื่องก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานนั้น. แม้อากิญจัญญายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำ
ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญ
จัญญายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะ
ล่วงอากิญจัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌาน
นั้น. แม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย
จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดูกร
อุทายี ที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
ได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น. เรากล่าว
การละกระทั่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอุทายี เธอเห็นหรือหนอ
ซึ่งสังโยชน์ละเอียดก็ดี หยาบก็ดีนั้น ที่เรามิได้กล่าวถึงการละนั้น?
     ไม่เห็นเลย พระเจ้าข้า.
     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ท่านพระอุทายียินดีชื่นชมพระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
         จบ ลฑุกิโกปมสูตร ที่ ๖.
           _________________

เบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์
 ผู้แสวงหาธรรมเครื่องละความพอใจในภพ
บุคคล ๔ จำพวก
     [๑๘๑] ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน? ดูกร
อุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ แต่ความดำริที่แล่นไป
อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ผู้นั้นยังรับเอา
ความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี เราเรียกบุคคลนี้แลว่า
ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็น
ของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
     ดูกรอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความ
ดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่
แต่ผู้นั้นไม่รับเอาความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ ให้ถึงความไม่มีได้
แม้บุคคลผู้นี้ เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
     ดูกรอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ(ขันธ์ห้า) เพื่อสละคืนอุปธิ ความ
ดำริที่แล่นไป(ความคิด) อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่
เพราะความหลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยัง
ครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้นฉับพลัน. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือน
บุรุษเอาหยาดน้ำสองหยาด หรือสามหยาด หยาดลงในกะทะเหล็กอันร้อนอยู่ตลอดวัน หยาด
น้ำตกลงช้าไป ความจริงหยาดน้ำถึงความสิ้นไปแห้งไปนั้นเร็วกว่า ฉันใด ดูกรอุทายี บุคคล
บางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริแล่นไป อัน
ประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลง
ลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้นฉับพลัน ถึงบุคคลนี้เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ มิใช่
ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้
เรารู้แล้ว.
     ดูกรอุทายี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้
ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพานเป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อัน
กิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของ
ต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว. ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก.
                ว่าด้วยกามคุณ ๕
     [๑๘๒] ดูกรอุทายี กามคุณห้าเหล่านี้ กามคุณห้าเป็นไฉน คือรูปอันพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
เสียงอันพึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นอันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสอันพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา   ...
โผฏฐัพพะอันพึงรู้แจ้งด้วยกาย ... ที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม
ป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. กามคุณห้านี้แล. ดูกรอุทายี ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ
ห้านี้ เรากล่าวว่ากามสุข ความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ
อันบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น.
     [๑๘๓] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต
ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิด
แต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุ
จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้มีอุเบกขา
เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ฌานทั้งสี่นี้เรากล่าวว่า ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม ความสุข
เกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสงบ ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพ
ควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัวแต่สุขนั้น ดังนี้.
     [๑๘๔] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ดูกรอุทายี ปฐมฌานเรากล่าวว่ายัง
หวั่นไหว ก็ในปฐมฌานนั้น ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่วิตกและวิจารยังไม่ดับในปฐมฌานนี้ เป็น
ความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส
แห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและ
สุขเกิดแต่สมาธิอยู่. ดูกรอุทายี แม้ทุติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในทุติยฌานนั้น
ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่ปีติและสุขยังไม่ดับในทุติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในทุติยฌานนั้น.
ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะ
ปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
อยู่เป็นสุข. ดูกรอุทายี แม้ตติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในตติยฌานนั้นยังมีอะไร
หวั่นไหว ข้อที่อุเบกขาและสุขยังไม่ดับในตติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในตติยฌานนั้น. ดูกร
อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ
ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. จตุตถฌานนี้ เรากล่าวว่า
ไม่หวั่นไหว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น