หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล  ผู้อนุเคราะห์  อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย  กิจนั้นเราทำแล้วแก่พวกเธอ  ดูกรอานนท์  นั่นโคนไม้นั่นเรือนว่าง  เธอทั้งหลาย
จงเพ่งฌาน 
อย่าประมาท  อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง  นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ 

คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

    [๑๕] ราตรียาวแก่คนผู้ตื่นอยู่  โยชน์ยาวแก่คนผู้เมื่อยล้า สงสารยาวแก่
    คนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ถ้าว่าบุคคลเมื่อเที่ยวไปไม่พึงประสบ
    สหายประเสริฐกว่าตน หรือสหายผู้เช่นด้วยตนไซร้ บุคคลนั้นพึง
    ทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น เพราะว่าคุณเครื่องความเป็นสหาย ย่อมไม่มี
    ในคนพาล คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรา
    มีอยู่ ดังนี้ตนนั่นแลย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายแต่ที่ไหน ทรัพย์
    แต่ที่ไหน ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วยเหตุนั้น
    ผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็น
    บัณฑิต ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต
    แม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้น
    ถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลัน
    เหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึก
    เที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อน
    ในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่
    ย่อมเสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว
    ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแลทำแล้วเป็นดี บุคคลอัน
    ปีติโสมนัสเข้าถึงแล้ว [ด้วยกำลังแห่งปีติ] [ด้วยกำลังแห่งโสมนัส]
    ย่อมเสพผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นดี คนพาลย่อมสำคัญบาป
    ประดุจน้ำหวาน ตลอดกาลที่บาปยังไม่ให้ผลแต่บาปให้ผลเมื่อใด
    คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น คนพาลถึงบริโภคโภชนะด้วยปลาย
    หญ้าคาทุกเดือนๆ เขาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว
    ๑๖ หน ของพระอริยบุคคลทั้งหลายผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว ก็บาปกรรม
    บุคคลทำแล้วยังไม่แปรไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้น
    บาปกรรมนั้นย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้น
    ความรู้นั้นย่อมเกิดแก่คนพาลเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์อย่างเดียว ความรู้
    ยังปัญญาชื่อว่ามุทธาของเขาให้ฉิบหายตกไป ย่อมฆ่าส่วนแห่งธรรมขาว
    ของคนพาลเสียภิกษุผู้เป็นพาล พึงปรารถนาความสรรเสริญอันไม่มีอยู่
    ความห้อมล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และการบูชา
   ในสกุลของชนเหล่าอื่น ความดำริย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุพาลว่า คฤหัสถ์
    และบรรพชิตทั้งสองฝ่าย จงสำคัญกรรมที่บุคคลทำแล้วว่า เพราะอาศัย
    เราผู้เดียว คฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นจงเป็นไปในอำนาจของเรา
    ผู้เดียว ในบรรดากิจน้อยและกิจใหญ่ทั้งหลาย กิจอะไรๆ อิจฉา
    [ความริษยา]มานะ [ความถือตัว] ย่อมเจริญแก่ภิกษุพาลนั้น ภิกษุ
    ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ยิ่งแล้ว ซึ่งปฏิปทา ๒ อย่างนี้ว่า
    ปฏิปทา    อันเข้าอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง
    ปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง
    ดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ ฯ
    จบพาลวรรคที่ ๕
    คาถาธรรมบท ปัณทิตวรรคที่ ๖
    [๑๖] บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ มักกล่าว
    ข่มขี่ มีปัญญา พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบ
    บัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณที่ประเสริฐโทษที่ลามกย่อมไม่มี บุคคล
    พึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอนและพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ
    ก็บุคคลนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของ
    พวกอสัตบุรุษบุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์
     กามบ่นไม่ บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดง
    อาการสูงๆ ต่ำๆ บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน ไม่ทำบาป
    เพราะเหตุแห่งผู้อื่น ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนาทรัพย์ ไม่พึง
    ปรารถนาแว่นแคว้น ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม
    บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีลมีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ในหมู่มนุษย์
    ชนผู้ที่ถึงฝั่งมีน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ก็ชน
    เหล่าใดแล ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้าตรัสแล้วโดยชอบ
    ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยาก แล้วจักถึงฝั่ง บัณฑิตออกจาก
    อาลัยแล้ว อาศัยความไม่มีอาลัยละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว บัณฑิต
    พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก ละกามทั้งหลายแล้ว
    ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต
    ชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ ในองค์แห่งธรรมสามัคคี(โพธิปักยธรรม ๓๗ ประการ)เป็น
    เครื่องตรัสรู้ ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในการสละคืนความถือมั่น
    ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้วมีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก ฯ
    จบปัณฑิตวรรคที่ ๖
    คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗
[๑๗] ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีทางไกลอันถึงแล้ว ผู้มีความโศกปราศ
    ไปแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
    อันละได้แล้ว ท่านผู้มีสติย่อมขวนขวายท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่
    ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนหงส์สละเปือกตมไป ฉะนั้น ชนเหล่าใด
    ไม่มีการสั่งสมมีโภชนะอันกำหนดแล้ว มีสุญญตวิโมกข์และ
    อนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร คติของชนเหล่านั้น รู้ได้โดยยาก เหมือน
    คติฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ภิกษุใดมีอาสวะสิ้นแล้ว อันตัณหาและ
    ทิฐิไม่อาศัยแล้วในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์
    เป็นโคจร รอยเท้าของภิกษุนั้นไปตามได้โดยยากเหมือนรอยเท้าของ
    ฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น อินทรีย์ของภิกษุใดถึงความสงบระงับ
    เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อม
    รักใคร่ต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะอันละได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่
    ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้วมีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้คงที่ เปรียบดังเสา
    เขื่อน มีวัตรดีปราศจากกิเลสเพียงดังเปือกตม ผ่องใส เหมือน
    ห้วงน้ำที่ปราศจากเปือกตมมีน้ำใส ย่อมไม่พิโรธ สงสารทั้งหลาย
    ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่ มีอาสวะสิ้นแล้ว เช่นนั้น ใจ วาจาและ
    กายกรรมของภิกษุผู้ขีณาสพนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สงบ
    ระงับ คงที่ เป็นธรรมชาติสงบแล้ว นรชนใดไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพาน
    อันปัจจัยอะไรๆ ทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อมีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวัง
    อันคลายแล้ว นรชนนั้นแลเป็นบุรุษผู้สูงสุด พระอรหันต์ทั้งหลาย
    ย่อมอยู่ในที่ใดคือบ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน ที่นั้นเป็นภาคพื้นอันบุคคล
    พึงรื่นรมย์ ชนไม่ยินดีในป่าเหล่าใด ป่าเหล่านั้น ควรรื่นรมย์ ผู้มีราคะ
    ไปปราศแล้วทั้งหลาย จักยินดีในป่าเห็นปานนั้น เพราะว่าท่านไม่ใช่
    ผู้แสวงหากาม ฯ
    จบอรหันตวรรคที่ ๖
    คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
    [๑๘] หากว่าวาจาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้บทอัน
    เป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า คาถาแม้
    ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ คาถาบทหนึ่งที่บุคคล
    ฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่าก็บุคคลใดพึงกล่าวคาถา ประกอบด้วยบท
    อันไม่เป็นประโยชน์ตั้งร้อย บทธรรมบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ
    ประเสริฐกว่า บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพัน ในสงคราม
    บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามส่วนบุคคลใดพึง
ชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม
    ตนแลอันบุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคล
    ชนะแล้วจักประเสริฐอะไร เพราะว่า เทวดา คนธรรพ์ มารกับทั้งพรหม
    พึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติประพฤติสำรวมเป็น
    นิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้นให้กลับแพ้ไม่ได้ ก็การบูชาของผู้ที่บูชา
    ท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการ
    บูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การ
    บูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร ก็การบูชา ของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอัน
    อบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าผู้บำเรอไฟในป่า
    ตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร บุคคลผู้มุ่งบุญ
    พึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว อย่างใด
    อย่างหนึ่งในโลกตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่
    บุคคลบูชาแล้ว [ทาน] นั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔
    แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาทในท่านผู้
    ดำเนินไปตรงทั้งหลาย ประเสริฐกว่า ธรรม ๔ ประการคือ อายุ
    วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อม
    ต่อผู้เจริญเป็นนิตย์ ก็บุคคลผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคล
    ผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญามี
    จิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่
    วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่
    ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่
    วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความ
    เสื่อมไปมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิต
    อยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบทมีชีวิตอยู่
    ร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุดมีชีวิตอยู่ร้อยปี
    จบสหัสสวรรคที่ ๘
คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
    [๑๙] บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจ
    ย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่
    พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่า
    บุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น
    เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบ
    เท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาป
    เมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล
    บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย[พอประมาณ] จักไม่
    มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด]
    คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคล
    อย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อม
    เต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ
    ย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก
    เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือ
    ไม่พึงมีแผลไซร้บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่
    ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อมประทุษร้าย
    ต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
    บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาลดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวน
    ลมไป ฉะนั้น คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก
    ย่อมเข้าถึงนรกผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์
    ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพานอากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป
    ส่วนแห่งแผ่นดิน
    ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ไม่มีเลย อากาศ
    ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไปส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคล
    สถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ
    จบปาปวรรคที่ ๙
คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐
    [๒๐] ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญาสัตว์ทั้งปวง
    ย่อมกลัวต่อความตาย แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ภิกษุทำตน
    ให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์
    ทั้งปวง แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อ
    ตนย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่
    ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียน
    สัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้า
    ท่านอย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วพึงกล่าวตอบท่าน
    เพราะว่าถ้อยคำแข็งดีให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องท่านถ้าท่านไม่
    ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาลถูกขจัดแล้ว ท่านนี้จะเป็นผู้ถึงนิพพาน
    ความแข็งดีย่อมไม่มีแก่ท่าน นายโคบาลย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน ด้วย
    ท่อนไม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป
    ฉันนั้น คนพาลผู้ไร้ปัญญาทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึก ภายหลัง
    ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้ ฉะนั้น
    ผู้ใดย่อมประทุษร้ายในพระขีณาสพผู้ไม่มีอาชญา ผู้ไม่ประทุษร้าย ด้วย
    อาชญา ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเหตุแห่งทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งพลัน
    ทีเดียว คือเวทนาหยาบช้า ความเสื่อมทรัพย์ ความแตกแห่งสรีระอาพาธ
    หนัก ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความขัดข้องแต่พระราชาการกล่าวตู่อันร้าย
    แรง ความสิ้นญาติ ความย่อยยับแห่งโภคะทั้งหลาย หรือไฟย่อมไหม้
    เรือนของเขา เมื่อตายไป เขาผู้ไร้ปัญญาย่อมเข้าถึงนรก ความประพฤติ
    เปลือย การทรงชฎาการนอนที่เปือกตม การไม่กินข้าว หรือการนอน
    เหนือแผ่นดิน ความคลุกคลีด้วยธุลี ความเพียรอันปรารภด้วยความเป็น
    คนกระโหย่ง ยังสัตว์มีความสงสัยอันข้ามไม่ได้แล้วให้หมดจดไม่ได้ ถ้า
    แม้บุคคลผู้ประดับแล้ว เป็นผู้สงบ ฝึกแล้วเที่ยงแล้ว เป็นผู้ประพฤติ
    ธรรมอันประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก แล้วพึงประพฤติสม่ำ
    เสมอไซร้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสมณะ
    บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ บุรุษผู้เกียดกันอกุศลวิตกด้วยหิริ มีอยู่ในโลก
    น้อยคน บุรุษผู้บรรเทาความหลับตื่นอยู่ ดุจม้าที่เจริญหลบแส้ หาได้ยาก
    ม้าที่เจริญถูกนายสารถีเฆี่ยนด้วยแส้ย่อมทำความเพียร ฉันใด เธอ
    ทั้งหลายจงเป็นผู้มีความเพียร มีความสังเวช ฉันนั้นเถิด เธอทั้งหลาย
    เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และการวินิจฉัยธรรม(ปัญญา)
    เป็นผู้มีวิชชาและจรณะอันสมบูรณ์ เป็นผู้มีสติ จักละทุกข์มีประมาณ
    ไม่น้อยนี้เสียได้ ก็พวกใช้น้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร
    พวกช่างถากย่อมถากไม้ ผู้มีวัตรอันงามย่อมฝึกตน ฯ
    จบทัณฑวรรคที่ ๑๐
    คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑
    [๒๑] ร่าเริงอะไรกันหนอ ยินดีอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสถูกไฟไหม้โพล่ง
    แล้วเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว เพราะเหตุไรจึงไม่
    แสวงหาประทีป ท่านจงดูอัตภาพอันบุญกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็น
    แผล อันกระดูกสามร้อยท่อนปรุงขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย อันมหาชน
    ดำริกันโดยมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง รูปนี้คร่ำคร่าแล้ว เป็นรังแห่งโรค
    ผุพัง กายของตนอันเปื่อยเน่าจะแตกเพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
    กระดูกเหล่าใดเขาไม่ปรารถนาแล้ว เหมือนน้ำเต้าในสารทกาล มีสี
    เหมือนนกพิราบ จะยินดีอะไรเพราะได้เห็นกระดูกเหล่านั้น สรีระอัน
    กรรมสร้างสรรให้เป็นเมืองแห่งกระดูก มีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องไล้ทา
    เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่ ราชรถ
    ทั้งหลายอันวิจิตรย่อมคร่ำคร่าได้โดยแท้ อนึ่งแม้สรีระก็เข้าถึงความคร่ำ
    คร่า ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษแลย่อม
สนทนาด้วยสัตบุรุษบุรุษมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถึก เนื้อของ
    เขาย่อมเจริญ [แต่] ปัญญาของเขาหาเจริญไม่ เราแสวงหานายช่าง
    เรือนอยู่ เมื่อยังไม่ประสบ แล่นไปแล้วสู่สงสารมีชาติไม่น้อย ความ
    เกิดเป็นทุกข์ร่ำไป แน่ะนายช่างเรือน บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจักไม่
    ต้องสร้างเรือนอีก ซี่โครงของท่านทั้งหมดเราหักแล้ว ยอดเรือนเราขจัด
    เสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งนิพพานอันปราศจากสังขาร เราบรรลุ
    ความสิ้นแห่งตัณหาแล้ว คนพาลทั้งหลายไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้
    ทรัพย์ในคราวเป็นหนุ่ม ย่อมซบเซา เหมือนนกกะเรียนแก่ ซบเซา
    อยู่บนเปือกตม ซึ่งสิ้นปลาแล้ว ฉะนั้น คนพาลทั้งหลายไม่ประพฤติ
    พรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวเป็นหนุ่มย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า
    เหมือนลูกศรสิ้นไปแล้วจากแล่ง ฉะนั้น ฯ
    จบชราวรรคที่ ๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น