หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จังกมสูตร (สาวกพระเทวทัตต์)

๕. จังกมสูตร
[๓๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่าน
พระมหากัสสปก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอนุรุทธ
ก็จงกรมอยู่ ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็จงกรม
อยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอุบาลีก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุ
หลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค แม้พระเทวทัตต์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มี
พระภาค ฯ
[๓๖๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวก
เธอเห็นสารีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะ
กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก พวกเธอเห็นมหากัสสปกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับ
ภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท พวกเธอเห็นอนุรุทธ กำลังจงกรม
อยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตรกำลังจงกรม
อยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก พวกเธอเห็นอุบาลีกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับ
ภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย พวกเธอเห็นอานนท์ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกัน
กับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต พวกเธอเห็นเทวทัตต์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุ
หลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก ฯ
[๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว
คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว
 สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี แม้ใน
อดีตกาล สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มี
อัธยาศัยเลวได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มี
อัธยาศัยดี ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดีแม้ในอนาคตกาล
สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน โดยธาตุเทียวคือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว จักคบ
ค้ากัน จักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี จักคบค้ากัน
จักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากัน
ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน
 กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์
จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ฯ
จบสูตรที่ ๕


เถรวรรคที่ ๔
                   ๑. อานันทสูตร
          ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ
    [๑๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนทเถระเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าว
ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว. ท่านพระอานนท์ จึงได้
กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่
ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ว่า ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่น จึงมีตัณหา มานะ
ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา. เพราะถือมั่น อะไร
จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา.
เพราะถือมั่น  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา
เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็น
เรา. ดูกรท่านอานนท์ เปรียบเสมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดู
เงาหน้าของตน ที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำ อันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะ
ไม่ยึดถือจึงไม่เห็นฉันใด. ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านอานนท์ ท่านจะสำคัญ
ความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
     อ. ไม่เที่ยง อาวุโส.
     ป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
     อ. ไม่เที่ยง อาวุโส ฯลฯ
     ป. เพราะเหตุนี้แล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (โดยเหตุนี้แล ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า) ดูกรอาวุโส ท่านพระปุณณ
มันตานีบุตร เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็
เรา(พระอานนท์)ได้ตรัสรู้ธรรม เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร.
                    จบ สูตรที่ ๑.

1 ความคิดเห็น: