หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พาลปัณฑิตสูตร (กาย และนามรูป)

๙. พาลปัณฑิตสูตร
[๕๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาล ผู้อัน
อวิชชาหุ้มห่อแล้ว ประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูปในภายนอกด้วย
ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้ จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้ง
สองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องคนพาล เป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ กายนี้ของ
บัณฑิตผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้วประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูป
ในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้   จึงเกิดผัสสะ
สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องบัณฑิต เป็นเหตุให้เสวยสุข
และทุกข์ ฯ

[๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น จะแปลกกันอย่างไร จะมีอธิบายอย่างไร
จะต่างกันอย่างไร  ระหว่างบัณฑิตกับพาล พวกภิกษุกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมของพวก
ข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นเดิม มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย
ขอประทานพระวโรกาส เนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ แจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียว
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังแต่พระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงฟัง   จงใส่ใจให้ดีเถิด
เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
[๕๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาลผู้ถูกอวิชชาใด
หุ้มห่อแล้ว และประกอบแล้วด้วยตัณหาใด เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้น   คนพาลยังละไม่ได้ และ
ตัณหานั้นยังไม่สิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไปคนพาลย่อมเข้าถึงกาย เมื่อเขาเข้าถึงกายชื่อว่ายังไม่พ้น
จากชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นไปจากทุกข์
กายนี้ของบัณฑิตผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบด้วยตัณหาใด เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้น
บัณฑิตละได้แล้วและตัณหานั้นสิ้นไปแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าบัณฑิตได้ประพฤติ
พรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไป บัณฑิตย่อมไม่เข้าถึงกาย เมื่อเขา
ไม่เข้าถึงกาย ชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ  โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส เรากล่าว
ว่า ย่อมพ้นจากทุกข์ อันนี้เป็นความแปลกกัน อันนี้เป็นอธิบาย อันนี้เป็นความต่างกันของ
บัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ฯ
จบสูตรที่ ๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น