หน้าเว็บ

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โปรดเบญจวัคคีย์ ด้วยธรรมชื่อว่าอนุปุพพวิหารเก้า



ทรงโปรดเบญจวัคคีย์

     [๓๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจึงออกเดินทางต่อไปโดยลำดับ จนถึงพวกภิกษุปัญจวัคคีย์
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นเราเดินทางมาแต่ไกล
จึงได้นัดหมายกันว่า ท่านพระสมณโคดม พระองค์นี้ ที่เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียน
มาเพื่อความเป็นผู้มักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ ไม่ต้องรับ
บาตรจีวร แต่ว่าต้องปูอาสนะไว้ ถ้าทรงปรารถนา ก็จักประทับนั่ง. เมื่อเราเข้าไปใกล้ พวก
ภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในข้อนัดหมายกัน คือ บางรูปลุกขึ้นรับบาตรจีวร บางรูป
ปูอาสนะ บางรูปตั้งน้ำล้างเท้า แต่พูดกับเราโดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส" เราจึง
บอกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้พูดกับตถาคตโดยระบุนาม และใช้คำ
พูดว่า "อาวุโส" ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอน
อมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จัก
กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบ มุ่ง
หมาย ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง. เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์
ได้กล่าวกับเราว่า ดูกรอาวุโส โคดม แม้เพราะการประพฤติอย่างนั้น เพราะการปฏิบัติอย่างนั้น
เพราะการบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม ที่เป็นอริยญาณทัสสนะ
ชั้นพิเศษอย่างเพียงพอ ก็บัดนี้ ไฉนเล่า ท่านผู้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อ
ความเป็นคนมักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม ที่เป็นอริยญาณทัสสนะชั้นพิเศษอย่างเพียงพอ
ได้ เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้
เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันต
สัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะ
แสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์
อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบ มุ่งหมาย ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะ
รู้ยิ่งด้วยตนเอง. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวคัดค้านกะเราเป็นครั้งที่สอง เป็นครั้งที่สาม เมื่อ
พวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านอยู่อย่างนี้ เราจึงได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จำได้หรือไม่ว่า คำอย่างนี้ เราได้เคยพูดมาแล้วแต่ก่อน. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ คำอย่างนี้พระองค์มิได้เคยตรัสเลย. เราจึงกล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต
มิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันต
สัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะแสดง
ธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อัน
เป็นคุณยอดเยี่ยมที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบ มุ่งหมายในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่ง
ด้วยตนเอง. เราจึงได้สามารถให้พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ยอมเข้าใจตาม. เรากล่าวสอนภิกษุสองรูป
ภิกษุสามรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสามรูปนำมา. เรากล่าวสอน
ภิกษุสามรูป ภิกษุสองรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสองรูปนำมา ครั้ง
นั้น พวกภิกษุปัญจวัคคีย์อันเราโอวาทอนุศาสน์อยู่อย่างนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่า
มิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดา แสวง
หาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีพยาธิเป็น
ธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้
หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะ
เป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็น
ผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หา
โศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษใน
สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
เกษมจากโยคะ และพวกภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า วิมุติของพวก
เราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป.
     [๓๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณเหล่านี้มี ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึง
ทราบชัดได้ด้วยจักษุ ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารักประกอบด้วยกาม เป็นที่
ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงทราบชัดได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงทราบชัดได้ด้วยฆานะ ... รสที่พึง
ทราบชัดได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงทราบชัดได้ด้วยกาย ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่า
ชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕
เหล่านี้แล. สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่
จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้  สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า
เป็นผู้ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทำได้ตามต้องการ.
            อุปมาสมณพราหมณ์กับฝูงเนื้อ
     [๓๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ติดบ่วงนอนทับกองบ่วง พึงทราบ
ว่า เป็นสัตว์ที่ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกพรานกระทำได้ตามต้องการ เมื่อพรานเดินเข้ามา
ก็หนีไปไม่ได้ ตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน
ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น.
บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทำได้ตามต้องการ ฉันนั้น
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนำตน
ออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ไม่ถึงความ
เสื่อมความพินาศไม่ถูกมารผู้ใจบาปกระทำได้ตามต้องการ. เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอน
ทับกองบ่วง พึงทราบว่า เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกพรานกระทำได้ตามต้องการ
เมื่อพรานเดินเข้ามา ก็หนีไปตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน
ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้
สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกมารผู้ใจบาป
กระทำได้ตามต้องการฉันนั้น.
     อนึ่ง เหมือนอย่างว่า เนื้อป่า เมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน
เพราะไม่ได้ประสบพรานป่า ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม ย่อมบรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ
ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้กระทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็น
ของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วย
นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี
อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็น
ร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข
ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า
ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุได้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานซึ่งมีบริกรรมว่า
อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญาไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการ
ทั้งปวงอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึง
ความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานเสียโดยประการ
ทั้งปวง ได้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ซึ่งมีบริกรรมว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า
ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานเสียโดยประการ
ทั้งปวง ได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งมีบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มีอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า
ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานเสียโดยประการ
ทั้งปวง ได้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลาย
จักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเสียโดย
ประการทั้งปวง ได้บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็แลเพราะเห็นด้วยปัญญา เธอย่อมมีอาสวะสิ้น
ไป ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความ
ไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ย่อม
วางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน เพราะไม่ได้ประสบมารผู้มีบาปธรรม.

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดี พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค แล้วแล.
              จบ ปาสราสิสูตร ที่ ๖
(ให้ท่านสังเกตุลำดับในการปฏิบัติ คือละกามคุณห้า  บาปอกุศลทั้งปวง ปฐมฌาน จึงถึง
สัญญาเวทยิตนิโรธ
)

               ____________________________
                            เรื่องพระปัญจวัคคีย์
    [๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์. พระปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
เสด็จมาแต่ไกล แล้วได้นัดหมายกันและกันว่า ท่านทั้งหลาย พระสมณะโคดมนี้เป็นผู้มักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึง
ลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้  ถ้าพระองค์ปรารถนา
ก็จักประทับนั่ง. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่
ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค
รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่ง
นำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะ ที่พระปัญจวัคคีย์
จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท. ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคโดยระบุพระนาม และ
ใช้คำว่า "อาวุโส" เมื่อพระปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสห้ามพระ
ปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า "อาวุโส"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุ
อมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้า
สักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลาย
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่.
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว. พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า
อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริ-
มนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.
    เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้
บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว
ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลาย
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่.
    แม้ครั้งที่สอง พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า ...
    แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ...
    แม้ครั้งที่สาม พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยา
นั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม
อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลาย
ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้
ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.
    เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน แต่กาลนี้.
    พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า คำนี้ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า.
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จักแสดงธรรม พวกเธอ
ปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุด
แห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วย
ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้พระปัญจวัคคีย์
ยินยอมได้แล้ว. ลำดับนั้นพระปัญจวัคคีย์ ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิต
เพื่อรู้ยิ่ง.
                ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
                ปฐมเทศนา
    [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุด
สองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
    การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
    การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้
ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
พื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา
ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
นั้น เป็นไฉน?
    ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ๑
ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑
ตั้งจิตชอบ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อนิพพาน.
    [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่
ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบ
ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือ
ด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ... ตั้งจิตชอบ ๑.
    [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว
แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.
            ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒
    [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓
มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
    อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาติ
นี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.
    ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.
    [๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้
บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ
ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ
ใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
    เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
    เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
    เทวดาชั้นยามา ...
    เทวดาชั้นดุสิต ...
    เทวดาชั้นนิมมานรดี ...
    เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...
    เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็
บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
    ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล.
    ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้
ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ
ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อ
ของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.
                ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ
                _________________
                ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
    [๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้
รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดง
ความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้
ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค
พระพุทธเจ้าข้า.
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรา
กล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
    พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น.
    [๑๙] ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
จากนั้นด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตา
เห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น