คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
[๓๕] ความสำรวมด้วยจักษุเป็นความดี ความสำรวมด้วยหูเป็นความดี ความ
สำรวมด้วยจมูกเป็นความดี ความสำรวมด้วยลิ้นเป็นความดี ความ
สำรวมด้วยกายเป็นความดี ความสำรวมด้วยวาจาเป็นความดี ความ
สำรวมด้วยใจเป็นความดี ความสำรวมในทวารทั้งปวงเป็นความดี ภิกษุ
ผู้สำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ผู้ที่สำรวมมือ
สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน ยินดีในอารมณ์ภายใน มีจิตตั้งมั่น
อยู่ผู้เดียว สันโดษ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ ภิกษุใด
สำรวมปาก มีปกติกล่าวด้วยปัญญา มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมแสดงอรรถ
และธรรมภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดี
แล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึงธรรม ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม
ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นลาภของตน ไม่พึงเที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น เพราะ
ภิกษุปรารถนาลาภของผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่บรรลุสมาธิ ถ้าว่าภิกษุแม้มีลาภ
น้อยก็ย่อมไม่ดูหมิ่นลาภของตนไซร้ เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญ
ภิกษุนั้น ผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน
ผู้ใดไม่มีความยึดถือใน
นามรูปว่าของเราโดยประการทั้งปวง และย่อม
ไม่เศร้าโศกเพราะนามรูปไม่มี
อยู่ ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็นภิกษุ ภิกษุใดมีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใส
แล้วในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้นพึงบรรลุสันตบทอันเป็นที่ระงับสังขาร
เป็นสุข (นิพพาน)ดูกรภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว เธอตัด
ราคะและโทสะแล้ว จักถึงนิพพานในภายหลัง ภิกษุพึงตัดโอรัมภาคิย
สังโยชน์ ๕ พึงละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง
ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้าม
โอฆะได้ ดูกรภิกษุ เธอจงเพ่ง และอย่าประมาท จิตของเธอหมุนไป
ในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนก้อนโลหะอย่าถูกไฟเผาคร่ำครวญ
ว่านี้ทุกข์ ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน
ความยินดีอันมิใช่ของ
มนุษย์ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบ ผู้เห็นแจ้งซึ่งธรรม
โดยชอบ ในกาลใดๆ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความ
เสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ในกาลนั้นๆภิกษุนั้นย่อมได้ปีติและ
ปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์นั้นเป็นอมตะของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้ง
อยู่ บรรดาธรรมเหล่านั้นธรรมนี้ คือ ความคุ้มครองอินทรีย์ ความ
สันโดษ และความสำรวมในปาฏิโมกข์ เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญา
ในธรรมวินัยนี้ ท่านจงคบกัลยาณมิตร มีอาชีพหมดจดไม่เกียจคร้าน
ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เป็นผู้มากด้วย
ความปราโมทย์ เพราะความประพฤติในปฏิสันถาร และความเป็นผู้ฉลาด
ในอาจาระนั้นจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงเปลื้องราคะและโทสะเสีย เหมือนมะลิปล่อยดอกที่เหี่ยวแห้งแล้ว
ฉะนั้น ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ มีใจตั้งมั่นดี มีอามิส
ในโลกอันคายแล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบระงับ จงเตือนตนด้วยตน
เอง จงสงวนตนด้วยตนเอง ดูกรภิกษุ เธอนั้นผู้มีตนอันคุ้มครองแล้ว
มีสติ จักอยู่เป็นสุข ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ตนแลเป็นคติของตน
เพราะเหตุนั้น ท่านจงสำรวมตน เหมือนพ่อค้าระวังม้าดีไว้ ฉะนั้น
ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์เลื่อมใสแล้วในพุทธศาสนา พึงบรรลุ
สันตบทอันเป็นที่เข้าไปสงบแห่งสังขาร เป็นสุข ภิกษุใดแล ยังเป็น
หนุ่มย่อมเพียรพยายามในพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ฯ
จบภิกขุวรรคที่ ๒๕
คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖
[๓๖] ดูกรพราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหาเสีย จงบรรเทากาม
ทั้งหลายเสีย ดูกรพราหมณ์ ท่านรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
จะเป็นผู้รู้นิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ เมื่อใด พราหมณ์
เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้ง ๒ ประการ เมื่อนั้น กิเลสเป็นเครื่องประกอบ
ทั้งปวงของพราหมณ์นั้นผู้รู้แจ้ง ย่อมถึงความสาบสูญไป ฝั่งก็ดีธรรมชาติ
มิใช่ฝั่งก็ดี ฝั่งและธรรมชาติมิใช่ฝั่ง ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด เรากล่าวผู้นั้นซึ่ง
มีความกระวนกระวายไปปราศแล้ว ผู้ไม่ประกอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์
เรากล่าวบุคคลผู้เพ่งฌานปราศจากธุลี นั่งอยู่ผู้เดียว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะบรรลุประโยชน์อันสูงสุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ พระอาทิตย์
ย่อมส่องแสงสว่างในกลางวัน พระจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างใน
กลางคืน กษัตริย์ทรงผูกสอดเครื่องครบย่อมมีสง่าพราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง
ส่วนพระพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองด้วยพระเดชตลอดวันและคืนทั้งสิ้น บุคคลผู้มีบาปอันลอยแล้วแล
เรากล่าวว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลว่าเป็นสมณะเพราะประพฤติสงบ บุคคลผู้ขับไล่มลทินของ
ตน เรากล่าวว่าเป็นบรรพชิต เพราะการขับไล่นั้น พราหมณ์ไม่พึง
ประหารพราหมณ์ พราหมณ์ไม่พึงปล่อยเวรแก่พราหมณ์นั้น เราติเตียน
บุคคลผู้ประหารพราหมณ์ เราติเตียนบุคคลผู้ปล่อยเวรแก่พราหมณ์ กว่า
บุคคลผู้ประหารนั้น การเกียจกันใจจากสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย ของ
พราหมณ์ เป็นคุณประเสริฐหาน้อยไม่ ใจประกอบด้วยความเบียดเบียน
ย่อมกลับจากวัตถุใดๆ ทุกข์ย่อมสงบได้หมดจากวัตถุนั้นๆเรากล่าว
บุคคลผู้ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ ผู้สำรวมแล้วจากฐานะทั้ง ๓
ว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
แล้วจากบุคคลใด พึงนอบน้อมบุคคลนั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์
นอบน้อมการบูชาไฟ ฉะนั้น บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะการเกล้า
ชฎา เพราะโคตร เพราะชาติหามิได้ สัจจะและธรรมะมีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดอยู่ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ด้วย ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเกล้าชฎาแก่ท่าน จะมีประโยชน์อะไร
ด้วยผ้าสาฎกที่ทำด้วยหนังชะมดแก่ท่าน ภายในของท่านรกชัฏ ท่าน
ย่อมขัดสีแต่อวัยวะภายนอก เรากล่าวบุคคลผู้ทรงผ้าบังสุกุลซูบผอม
สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ผู้เดียวเพ่ง (ฌาน)อยู่ในป่านั้น ว่าเป็นพราหมณ์
ก็เราไม่กล่าวผู้ที่เกิดแต่กำเนิด ผู้มีมารดาเป็นแดนเกิด ว่าเป็นพราหมณ์
ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าโภวาที (ผู้กล่าวว่าท่านผู้เจริญ) ผู้นั้นแลเป็นผู้มีกิเลส
เครื่องกังวล เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลผู้ไม่ถือมั่นนั้น ว่า
เป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ตัดสังโยชน์ทั้งหมดได้ ไม่สะดุ้ง ผู้ล่วงกิเลส
เป็นเครื่องข้อง ไม่ประกอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้ตัด
ความโกรธดุจชะเนาะ ตัดตัณหาดุจหนังหัวเกวียน และตัดทิฐิดุจเงื่อน
พร้อมทั้งอนุสัยดุจสายเสียได้ ผู้มีอวิชชาดุจลิ่มสลักอันถอนแล้ว ตรัสรู้
แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งการด่า
การทุบตีและการจองจำ ผู้มีกำลัง คือ ขันติ ผู้มีหมู่พลเมืองคือขันติ
ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีลไม่มีกิเลส
เครื่องฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว มีร่างกายตั้งอยู่ในที่สุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์
เรากล่าวผู้ที่ไม่ติดในกามทั้งหลายดุจน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว ดังเมล็ดพันธุ์
ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลมนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่
รู้แจ้งความสิ้นทุกข์ของตนในธรรมวินัยนี้ มีภาระอันปลงแล้วพรากแล้ว
ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์ ผู้ฉลาด
ในมรรคและมิใช่มรรค ผู้บรรลุประโยชน์อันสูงสุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์
เรากล่าวผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ไม่
มีความอาลัยเที่ยวไป ผู้มีความปรารถนาน้อยนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรา
กล่าวผู้ที่วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่สะดุ้งและมั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่
ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ผิดในผู้ผิด ผู้ดับเสียใน
ผู้ที่มีอาชญาในตน ผู้ไม่ยึดถือในขันธ์ที่ยังมีความยึดถือนั้น ว่าเป็นพราหมณ์
เรากล่าวผู้ที่ทำราคะ โทสะ มานะ และมักขะให้ตกไปดุจเมล็ดพันธุ์
ผักกาดที่เขาให้ตกไปจากปลายเหล็กแหลมนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรา
กล่าวบุคคลผู้เปล่งวาจาไม่หยาบคาย อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นรู้แจ่มแจ้งกันได้
เป็นคำจริง ผู้ไม่ทำใครๆ ให้ขัดใจกันนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ไม่
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ในโลกนี้ ยาวก็ตาม สั้นก็ตาม น้อยก็ตาม
มากก็ตาม งามก็ตาม ไม่งามก็ตาม ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่มีความ
หวังในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่มีตัณหา ไม่ประกอบด้วยกิเลส ว่า
เป็นพราหมณ์เรากล่าวผู้ที่ไม่มีความอาลัย ไม่เคลือบแคลงสงสัยเพราะ
รู้ทั่ว หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์เรากล่าวผู้ละ
ทิ้งบุญและบาปทั้งสอง ล่วงกิเลสเครื่องขัดข้องในโลกนี้ ผู้ไม่มีความโศก
ปราศจากธุลี บริสุทธิ์ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่มีความเพลิดเพลิน
ในภพสิ้นแล้ว ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เหมือนพระจันทร์
ปราศจากมลทินนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ล่วงทางลื่น ทางที่ไป
ได้ยาก สงสาร และโมหะนี้เสียได้ เป็นผู้ข้ามแล้ว ถึงฝั่ง เพ่ง (ฌาน)
ไม่หวั่นไหว ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น
ว่าเป็นพราหมณ์เรากล่าวผู้ละกามทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีเรือน
งดเว้นเสียได้ มีกามและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์เรากล่าว
ผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้แล้ว ภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าว
ผู้ละโยคะของมนุษย์ ล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ พรากแล้วจากโยคะทั้งปวง
ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละความยินดี และความไม่ยินดีได้ เป็นผู้เย็น
ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าไปทรงไว้ ครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวงผู้แกล้วกล้า
ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดยประการ
ทั้งปวง ผู้ไม่ข้องอยู่ ไปดีตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่
เทวดา คนธรรพ์และมนุษย์รู้คติของเขาไม่ได้ มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็น
พระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ในขันธ์ที่เป็นอดีต ในขันธ์ที่เป็นอนาคต และในขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน
ไม่มีความกังวล ไม่มีความยึดถือว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้องอาจ
ประเสริฐ แกล้วกล้า แสวงหาคุณอันใหญ่ ชนะเสร็จแล้ว ไม่หวั่นไหว
ล้างกิเลส ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่รู้ปุพเพนิวาส เห็น
สวรรค์และอบาย และได้ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ อยู่จบพรหมจรรย์
เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนีอยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวงแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ ฯ
จบพราหมณวรรคที่ ๒๖
คาถาธรรมบท ภาษาไทย ฉบับสมบูรณ์
ตอบลบhttp://www.youtube.com/watch?v=jV3fosv8Sss