หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

ปริศนาธรรม

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘
 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

กามภูสูตรที่ ๑
[๕๕๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล
จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้วท่านพระกามภูได้กล่าวกะจิตตคฤหบดีว่าดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประพันธ์
คาถาไว้ดังนี้ว่า
ธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์แล่น
ไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลสเครื่องผูกพัน ฯ

[๕๕๙] ดูกรคฤหบดี ท่านพึงเห็นเนื้อความแห่งคาถาประพันธ์นี้ ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้โดยย่อโดยพิสดารอย่างไรหนอ ฯ
จิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คาถาประพันธ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสหรือ ฯ
กา. อย่างนั้น คฤหบดี ฯ
จิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านโปรดรอคอยอยู่ครู่หนึ่ง จนกว่ากระผมจักเพ่งเนื้อความ
แห่งคาถาประพันธ์นั้นได้ ฯ
ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้ตอบท่านกามภูว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ
คำว่าไม่มีโทษนั้น เป็นชื่อของศีล
คำว่า มีหลังคาขาวนั้น เป็นชื่อของวิมุตติ
คำว่า มีเพลาเดียวนั้น เป็นชื่อของสติ
คำว่า ย่อมแล่นไปนั้น เป็นชื่อของการก้าวไปและการถอยกลับ
คำว่ารถนั้น เป็นชื่อของร่างกายนี้ซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้น
ด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องลูบไล้ นวดเฟ้น มีการแตกทำลายและกระจัด
กระจายเป็นธรรมดา

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าทุกข์ ทุกข์เหล่านั้นอันภิกษุผู้ขีณาสพ  ละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าไม่มีทุกข์
คำว่า แล่นไปถึงที่หมาย นั้นเป็นชื่อของพระอรหันต์
คำว่า กระแสนั้น เป็นชื่อของตัณหา
ตัณหานั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ตัดกระแสตัณหา
ขาด ราคะ โทสะ โมหะ
ชื่อว่ากิเลสเครื่องผูกพัน กิเลสเครื่องผูกพันเหล่านั้น อันภิกษุผู้
ขีณาสพละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น
อีกต่อไปเป็นธรรมดา
เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ไม่มีกิเลส
เครื่องผูกพัน
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

คาถาประพันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
"เธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์  แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลสเครื่องผูกพัน
"

ดังนี้
กระผมย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคาถาประพันธ์นี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อได้
โดยพิสดารอย่างนี้ ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี การที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งนี้ ชื่อ
ว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๕

กามภูสูตรที่ ๒
[๕๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ครั้งนั้นแล
จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้
ถามท่านพระกามภูว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สังขารมีเท่าไรหนอแล ท่านพระกามภูตอบว่า ดูกร
คฤหบดี สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

[๕๖๑] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชมอนุโมทนาภาษิต
ของท่านพระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็กายสังขารเป็นไฉน
วจีสังขารเป็นไฉน จิตตสังขารเป็นไฉน ฯ

กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแลชื่อว่ากายสังขาร  วิตก วิจารชื่อว่า
วจีสังขาร สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร
[๕๖๒] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีก
ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร วิตก
วิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นของเกิดที่กายธรรมเหล่านี้เนื่อง
ด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร บุคคลย่อมตรึกตรอง
ก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจาภายหลัง ฉะนั้น วิตกวิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นของ
เกิดที่จิต ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิตฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ
[๕๖๓] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไป
อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเกิดมีได้อย่างไร ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เรา
จักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้างเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
บ้าง โดยที่ถูกก่อนแต่จะเข้า ท่านได้อบรมจิตที่จะน้อมไปเพื่อความเป็นจิตแท้ (จิตดั้งเดิม) ฯ
[๕๖๔] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไป
อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ธรรมเหล่าไหนดับก่อน คือ กาย
สังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารดับก่อน ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ วจีสังขารดับก่อน  ต่อจากนั้น
กายสังขารดับ ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ ฯ
[๕๖๕] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา  ยิ่งขึ้นไป
อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ทั้งสอง
นี้มีความต่างกันอย่างไร ฯ

กา. ดูกรคฤหบดี คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว มีกายสังขารดับสงบ  มีวจีสังขาร
ดับสงบ มีจิตตสังขารดับสงบ มีอายุสิ้นไป ไออุ่นสงบ อินทรีย์แตกกระจาย
ส่วนภิกษุผู้เข้า
สัญญาเวทยิตนิโรธ กายสังขารดับสงบ วจีสังขารดับสงบ จิตตสังขารดับสงบ (แต่) ยังไม่สิ้น
อายุ ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ผ่องใส
ดูกรคฤหบดี คนตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้า

สัญญาเวทยิตนิโรธมีความต่างกันอย่างนี้ ฯ
[๕๖๖] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้วได้ ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีก
ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมมีอย่างไร ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิดอย่างนี้
ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
บ้าง เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วบ้างโดยที่แท้ ก่อนแต่จะออก ท่านได้อบรมจิต
ที่น้อมเข้าไปเพื่อความเป็นจิตแท้ ฯ
[๕๖๗] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไป
อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  ธรรมเหล่าไหนเกิด
ก่อน คือกายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารเกิดก่อน ฯ

กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิดก่อน
ต่อจากนั้นกายสังขารจึงเกิด ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด ฯ

[๕๖๘] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไป
อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี ผัสสะ ๓ อย่าง คือ ๑ สุญญผัสสะ อนิมิตตผัสสะ  อัปปณิหิต
ผัสสะ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ

[๕๖๙] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้า
แต่ท่านผู้เจริญ ก็จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่
อะไร โน้มไปสู่อะไร เงื้อมไปสู่อะไร ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  ย่อมเป็น
ธรรมชาติน้อมไปสู่วิเวก โน้มไปสู่วิเวก เงื้อมไปสู่วิเวก ฯ
[๕๗๐] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม  อนุโมทนาภาษิต
ของท่านพระกามภูแล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ธรรมเท่าไร ย่อมมี
อุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
กา. ดูกรคฤหบดี ท่านถามปัญหาที่ควรจะถามก่อนล่าช้าไปหน่อย แต่ว่าอาตมาจักพยา
กรณ์ปัญหาแก่ท่าน ดูกรคฤหบดี ธรรม ๒ อย่าง คือ สมถะ ๑วิปัสสนา ๑ ย่อมมีอุปการะมาก
แก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
จบสูตรที่ ๖

3 ความคิดเห็น: