หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน มีใจเป็นที่รวม

พระสารีบุตรตอนเป็นปริพาชกเข้ามาถามธรรมจากพระอัสชิ
 อุณณาภพราหมณสูตร


              อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน
    [๙๖๖] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น อุณณภพราหมณ์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
    [๙๖๗] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่าง
กัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์ ๑
โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕
ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และ
อะไรย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้?
    [๙๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่าง
กัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกัน
และกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้.

    [๙๖๙] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจเล่า?
     พ. ดูกรพราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ.
    [๙๗๐] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติเล่า?
     พ. ดูกรพราหมณ์ วิมุติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ.
    [๙๗๑] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุติเล่า?
     พ. ดูกรพราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุติ.
     อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพาน.
     พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุด แห่งปัญหาได้
ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพาน
เป็นที่สุด.
    [๙๗๒] ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุก
จากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป.
    [๙๗๓] ครั้นอุณณาภพราหมณ์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
    [๙๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรือนยอดหรือศาลาคล้ายเรือนยอด มีหน้าต่างในทิศเหนือ
หรือทิศตะวันออก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไป แสงส่องเข้าไปทางหน้าต่าง ตั้งอยู่ที่ฝาด้านไหน? ภิกษุ
ทั้งหลายกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า.
     พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในพระตถาคตของอุณณาภพราหมณ์
มั่นคงแล้ว มีรากเกิดแล้ว ตั้งอยู่มั่นแล้ว อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ
ในโลกจะพึงชักนำไปไม่ได้ ถ้าอุณณาภพราหมณ์ พึงทำกาละในสมัยนี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ซึ่ง
เป็นเครื่องประกอบให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมายังโลกนี้อีก.(สำเร็จกิจพรหมจรรย์)

(มีอีกพระสูตรมหาเวทัลลที่พระสารีบุตรสนธนาธรรม)คลิกที่นี่

                   จบ สูตรที่ ๒

                    สาเกตสูตร
               ว่าด้วยอินทรีย์ ๕ พละ ๕
    [๙๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมิคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ณ ที่
นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่
อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว ย่อมเป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้ว ย่อมเป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่หรือหนอ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค
เป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอเนื้อ
ความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้.
    [๙๗๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว เป็นพละ ๕ ที่พละ ๕
อาศัยแล้ว เป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่ ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว เป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัย
แล้ว เป็นอินทรีย์ ๕ เป็นไฉน?
    [๙๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็น
สัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็นวิริยพละ
สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละ สิ่งนั้นเป็น
สตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์
สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์.
    [๙๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำ ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออก หลั่ง
ไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทางทิศตะวันออก ที่ตรงกลางแม่น้ำนั้นมีเกาะ ปริยายที่กระแสแห่ง
แม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวมีอยู่ อนึ่ง ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น
อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสที่มีอยู่.
    [๙๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความ
นับว่ากระแสเดียวเป็นไฉน? คือ น้ำในที่สุดด้านตะวันออกและในที่สุดด้านตะวันตกแห่งเกาะนั้น
ปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียว.
    [๙๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่ง
ความนับว่าสองกระแสเป็นไฉน?
คือ น้ำในที่สุดด้านเหนือ และในที่สุดด้านใต้แห่งเกาะนั้น
ปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่า สองกระแส ฉันใด.
    [๙๘๑] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ
สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใด
เป็นวิริยพละ สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละ
สิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้น
เป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้น
เป็นปัญญินทรีย์.
    [๙๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๕ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
                   จบ สูตรที่ ๓
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น