๑๐. โลกสูตร
[๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียวตลอด
๗ วัน ครั้งนั้นแลโดยล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้วทรงตรวจดู
โลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ด้วยความเดือดร้อนเป็นอันมาก และผู้ถูก
ความเร่าร้อนเป็นอันมากซึ่งเกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง แผดเผาอยู่ ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลา
นั้นว่า
โลกนี้(ขันธ์ห้า)เกิดความเดือดร้อนแล้ว ถูกผัสสะครอบงำแล้ว ย่อมกล่าวถึง
โรคโดยความเป็นตัวตน ก็โลกย่อมสำคัญโดยประการใด ขันธปัญจก
อันเป็นวัตถุแห่งความสำคัญนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นจากประการที่ตน
สำคัญนั้น โลกข้องแล้วในภพมีความแปรปรวนเป็นอื่น ถูกภพครอบงำ
แล้ว ย่อมเพลิดเพลินภพนั่นเอง (สัตว์) โลกย่อมเพลิดเพลินสิ่งใด
สิ่งนั้นเป็นภัย โลกกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็บุคคลอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์นี้เพื่อจะละภพแล ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
กล่าวความหลุดพ้นจากภพด้วยภพ(สัสสตทิฐิ)เรากล่าวว่า สมณ
พราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดไม่หลุดพ้นไปจากภพ ก็หรือสมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความสลัดออกจากภพด้วยความไม่มี ภพ (อุจเฉททิฐิ)เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดไม่
สลัดออกไปจากภพ ก็ทุกข์นี้ย่อมเกิดเพราะอาศัยอุปธิทั้งปวง ความเกิด
แห่งทุกข์ย่อมไม่มี เพราะความสิ้นอุปาทานทั้งปวง ท่านจงดูโลกนี้
สัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ถูกอวิชชาครอบงำหรือยินดีในขันธปัญจก
ที่เกิดแล้ว ไม่พ้นไปจากภพก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในส่วนทั้งปวง
(ในเบื้องบนเบื้องต่ำ เบื้องขวาง) โดยส่วนทั้งปวง (สวรรค์ อบาย
และมนุษย์เป็นต้น) ภพทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความ
แปรปรวนเป็นธรรมดา อันบุคคลผู้เห็นขันธปัญจกกล่าวคือ ภพ ตาม
ความเป็นจริงด้วย ปัญญา อันชอบอย่างนี้ อยู่ย่อมละภวตัณหาได้
ทั้งไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหา ความดับด้วยอริยมรรคเป็นเครื่องสำรอก
ไม่มีส่วนเหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลาย โดยประการ
ทั้งปวง เป็นนิพพานภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับแล้วเพราะไม่
ถือมั่น ภิกษุนั้นครอบงำมาร ชนะสงคราม ล่วงภพได้ทั้งหมด เป็นผู้
คงที่ฉะนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบนันทวรรคที่ ๓
_________
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กรรมสูตร ๒. นันทสูตร
๓. ยโสชสูตร ๔. สาริปุตตสูตร
๕. โกลิตสูตร ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
๗. มหากัสสปสูตร ๘. ปิณฑปาตสูตร
๙. สิปปสูตร ๑๐. โลกสูตร ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น