หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ลำดับญาณ ๑๖ เปรียบเทียบ วิปัสสนาญาน ๙

ลำดับญาณ ๑๖

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกัน คือรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะรู้แจ้งชัดซึ่งรูปนาม
๒.ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้เหตุ รู้ปัจจัยของรูปนาม คือรู้ว่ารูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยรวมกันอยู่
๓.สัมมสนญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ปรากฏแจ้งชัด ๑๕ % คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
๔.อุทยัพพยญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของรูปนาม พระไตรลักษณ์ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง ๙๐ % สันตติขาดจนเป็นเหตุทราบชัดว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนแต่ต้องดับไปเป็นธรรมดา(หมายถึงสังขาร ไม่ใช่ รูปนาม)
๕.ภังคญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม คือ อุปาทะ ความเกิดขึ้น ฐิติ ความตั้งอยู่ มีอยู่ แต่ปรากฏไม่ชัดเจน เพราะวิปัสสนาญาณมีกำลังกล้าขึ้น รูปนามปรากฏเร็วขึ้น จึงเป็นเหตุให้พิจารณาเห็นชัดลงไปเฉพาะในส่วนแห่งความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ว่า สังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปทั้งสิ้น
๖.ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่ต้องแตกสลายไปทั้งสิ้น
๗.อาทีนวญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม คือเมื่อเห็นรูปนามล้วนแต่ดับสลาย เป็นของน่ากลัวมาตามลำดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปนามทั้งปวงล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นโทษ
๘.นิพพิทาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม คือเมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่รื่นเริง เพลิดเพลิน หลงใหลในรูปนาม
๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม เพราะพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ และเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามที่ผ่านมา
๑๐.ปฏิสังขาญาณ ปัญญากำหนดกลับไปพิจารณาทบทวนพระไตรลักษณ์อีก เพื่อที่จะหาทางหลุดพ้นไปจากรูปนาม คือตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ย่อท้อ ใจหนักแน่นมั่นคง เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สู้ตาย
๑๑.สังขารุเปกขาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาวางเฉยเป็นกลางในรูปนาม คือทราบชัดตามความเป็นจริงในรูปนามแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลาง วางเฉยได้
๑๒.อนุโลมญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารูปนามที่เป็นไปตามลำดับอนุโลมญาณต่ำ อนุโลมญาณสูง อันเป็นเครื่องตัดสินใจว่าไม่ผิดแน่ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มรรค ผล นิพพาน โดยอาการของพระไตรลักษณ์ อาการใดอาการหนึ่ง
๑๓.โคตรภูญาณ ปัญญาที่โอนจากโคตรของปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยะ เพื่อจะหน่วงยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๔.มรรคญาณ ปัญญาที่ปหานกิเลสให้เป็น สมุทเฉทปหาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๕.ผลญาณ ปัญญาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มรรคญาณปหานกิเลสแล้วมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ปัญญากำหนดพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว ที่ยังเหลืออยู่ ตลอดถึงมรรค ผล และนิพพาน
(หมายเหตุ ญาน ๑๖ นี้ แต่งขึ้นใหม่ยุค พ.ศ.๙๐๐ ที่ศรีลังกา มีพระพุทธโฆษาจารย์รจนาขึ้นพร้อมวิสุทธิมรรค  ที่พระพิมลธรรม(โดนวิบาบกรรมต้องติดคุก)นำเข้ามาจากพระพม่า แล้วมาสอนกันที่วัดมหาธาตุ  หากค้นในพระไตรปิฏกแล้วไม่มี มีแต่เอาวิปัสสนาญาน ๙ มาแต่งเติมเข้าไปอีก แล้วอธิบายเป็น รูปนาม แทนที่จะเป็นสังขาร  ที่นี้ลองเปรียบเทียบกับวิปัสสนาญาน ๙)


 คำว่า รูปนาม เป็นคำแทนขันธ์ห้า  คือ รูป เป็นรูปธรรม นามคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามธรรม



วิปัสสนาญาณ - ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ
 ๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณคือความปรีชา,ความหยั่งรู้หรือก็คือปัญญาตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป  (ไม่ใช่ รูปนาม)

 ๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา

๓.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว 

.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ
๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย  

๖.มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง    

๘.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดย ความเป็นกลางต่อสังขาร
๙.สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์ ( มี ๓ รอบ มีอาการ ๑๒ )ให้ดูเรื่อง
พุทธอุทาน ปฏิจจสมุปบาท